Close this window

สารคดีเกาะพระทอง
ในปี พ.ศ. 2531 มีข่าวว่านายทุนกำลังติดต่อขอเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่บริเวณเกาะระ-พระทอง จังหวัดพังงา นายดิษฐพงศ์ โชคคณาพิทักษ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ในขณะนั้น จึงได้มีหนังสืออุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ด่วนมาก ที่ กช 0713 (มส) /116 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2531 เสนอให้กองอุทยานแห่งชาติแจ้งกรมป่าไม้ โปรดระงับไม่ให้มีการเช่าพื้นที่บริเวณเกาะระ และมีความเห็นให้สงวนไว้เพื่ออุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จะได้ดำเนินการสำรวจผนวกให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ต่อมาอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ได้มีหนังสือเสนอกรมป่าไม้ เห็นควรสำรวจพื้นที่บริเวณเกาะระ-เกาะพระทอง พื้นที่ป่าชายเลนใกล้เคียง และพื้นที่อื่นๆ ที่เห็นว่ามีศักยภาพเหมาะสมที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้โดย ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ โปรดอนุมัติลงวันที่ 28 มีนาคม 2543 ท้ายหนังสือสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่ กษ 0712.5/981 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2543 ให้นายธนพงศ์ อภัยโส นักวิชาการป่าไม้ 6 ซึ่งปฏิบัติงานประจำอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ดำเนินการสำรวจเบื้องต้นบริเวณเกาะพื้นที่เกาะระ เกาะพระทอง พื้นที่ป่าชายเลนใกล้เคียง ท้องที่ อำเภอคุระบุรี อำเภอ.ตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ผลการสำรวจเบื้องต้น ปรากฏว่า พื้นที่บริเวณที่ดำเนินการสำรวจครอบคลุมพื้นที่ 401,250 ไร่ เป็นพื้นน้ำ 185,180 ไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่บก 206,080 ไร่ มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ทั้งพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ มีความหลากหลายทางชีวภาพเหมาะสมที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงมีคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 1868/2543 ลงวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2543 ให้นายธนพงศ์ อภัยโส นักวิชาการป่าไม้ 5 ไปดำเนินการสำรวจจัดตั้งพื้นที่บริเวณเกาะระ- เกาะพระทอง และพื้นที่ป่าชายเลน ใกล้เคียงในท้องที่อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เป็นอุทยานแห่งชาติ จากการดำเนินการทำให้แกนนำบางคนในท้องถิ่นเสียผลประโยชน์จึงได้ยุยงให้ชาวบ้านประท้วงคัดค้านการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ โดยอ้างปัญหาการประมงพื้นบ้านเป็นประเด็นหลัก ทำให้การชุมนุมประท้วง ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2543 บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอคุระบุรี เพื่อคัดค้านการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ โดยมีแกนนำผู้คัดค้านผลิตเปลี่ยนกันชึ้นเวทีปราศัยโจมตีการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ สำหรับทางฝ่ายราชการมีนายมานิต วัฒนเสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นายยอด คีรีรัตน์ ป่าไม้เขตนครศรีธรรมราช และนายธนพงศ์ อภัยโส หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระ-เกาะพระทอง ชี้แจงข้อเท็จจริง และทำความเข้าใจ ผลการชุมนุมประท้วงในวันนั้น ผู้ชุมนุมประท้วงได้ลงลายมือชื่อคัดค้าน และยื่นข้อเสนอต่อจังหวัดพังงาให้ยุติการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ ซึ่งทางจังหวัดพังงารับเรื่องไว้เสนอต่อกรมป่าไม้ ผู้ชุมนุมประท้วงจึงแยกย้ายสลายกลุ่มไป การดำเนินการสำรวจจัดตั้งยังคงดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2544 ได้มีชาวบ้าน ประมาณ 300 คน ได้บุกรุกเข้ารื้อถอนที่ทำการชั่วคราวของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระ-เกาะพระทอง บริเวณอ่าวเส็ง ท้องที่หมู่ 3 ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา และบังคับให้เจ้าหน้าที่ขนย้ายวัสดุขึ้นมาจากเกาะระ ในช่วงเวลาดังกล่าวกรมป่าไม้ได้มีการโยกย้ายข้าราชการโดยแต่งตั้งนายยุทธนา สัจกุล เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ไปทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระ – เกาะพระทอง ต่อไป โดยดำเนินการประสานงานนายอำเภอท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และหัวหน้าหน่วยงานราชการเกี่ยวข้องดำเนินการ ตั้งที่ทำการชั่วคราว ณ จุดเดิมที่ถูกรื้อถอนไปอีกครั้งหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2544 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
โดย: ทัช@FCT   วันที่: 4 Jan 2005 - 17:05


 ความคิดเห็นที่: 1 / 9 : 026963
โดย: ทัช@FCT
ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศเป็นชายฝั่งทะเลยุบตัว ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของภาคใต้ท้องที่จังหวัดพังงา ลักษณะโดยรวมของพื้นที่เป็นหาดโคลนปากแม่น้ำ มีลำคลองหลายสายไหลลงมาบริเวณดังกล่าว เป็นคลองยาวมีสาขามากมายก่อนเปิดออกสู่ทะเลมีความสมบูรณ์ของธาตุอาหารในตะกอนดิน และได้รับอิทธิพลจากการขึ้น-ลง ของน้ำทะเล มีภูเขาสูงชันและเกาะต่างๆ วางในแนวเหนือใต้ ได้แก่ เกาะระพื้นที่เป็นเขาสูงและชัน สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 235 เมตร เกาะพระพื้นที่เป็นที่ราบ เกาะคอเขาพื้นที่เป็นที่ราบส่วนใหญ่มีภูเขาสลับ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 310 เมตร และจากเกาะบริวารเล็กๆ อีก เช่น เกาะปลิง เกาะตาชัย และเขาบ่อไทรที่มียอดเขาสูงที่สุดคือ 450 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง

ลักษณะภูมิอากาศ

พื้นที่เกาะระ เกาะพระทอง และพื้นที่ใกล้เคียง มีลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้น มีฝนตกชุกเกือบทั้งปี เพราะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ และลมมรสะมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งแบ่งได้ 2 ฤดู คือ ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนถึงพฤศจิกายน โดยมีฝนตกชุกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนพฤศจิกายน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,124.7 มิลลิเมตร โดยเดือนกันยายนมีปริมาณน้ำฝนมากที่สุด คือ 366.2 มิลลิเมตร และฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม-มีนาคมโดยมีฝนตกในช่วงนี้บ้าง อุณหภูมิสูงสุด 37.8 องศาเซลเซียส อยู่ในเดือนเมษายน อุณหภูมิเฉลี่ย 28.97 องศาเซลเซียส
วันที่: 04 Jan 05 - 17:06

 ความคิดเห็นที่: 2 / 9 : 026964
โดย: ทัช@FCT
พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า ทรัพยากรป่าไม้


จากการสำรวจสามารถจำแนกได้เป็น 5 ประเภทดังนี้

1. ป่าดิบชื้น พบว่าขึ้นปกคลุมบริเวณที่เป็นเขา เช่น เกาะระ บริเวณลาดเขาและสันเขาพันธุ์ไม้ที่เป็นไม้เด่น เช่น ยางยุง ยางปราย ขันทอง ไม้เรือนยอดรองลงมา เช่น มะปริง มะส้าน เลือดกวาง มะไฟป่า ไม้พื้นล่าง เช่น หวาย กะพ้อ และเตย เป็นต้น

2. ป่าชายเลน พบขึ้นบริเวณชายฝั่ง ตามอ่าวของเกาะ เนื่องจารับอิทธิพลจากลำธาร แม่น้ำลำคลองกลายสายและการขึ้นลงของน้ำทะเล ดินเป็นเลนปนทรายหากมองจากภาพถ่ายทางอากาศ ป่าชายเลนจะเป็นผืนยาวติดต่อกันตั้งแต่ตอนเหนือจากบ้านทุ่งนางดำ ไปทางใต้จนถึงเกาะคอเขา ในพื้นที่อำเภอ ตะกั่วป่า พันธุ์ไม้ที่พบ ได้แก่ โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ ตะปูนขาว ถั่วดำ ฝาดอกแดง แสมขาว แสมดำ และไม้วงศ์ปาล์ม เช่น จาก เป้งทะเล หลาวชะโอน ไม้พื้นที่ล่างเช่น กระเพาะปลา และ เหงือกปลาหมอ เป็นต้น

3. ป่าชายหาด พบตามชายหาด ตามอ่าวที่น้ำทะเลท่วมไม่ถึง บริเวณเกาะระและเกาะพระทองพันธุ์ไม้ที่พบอาทิ เช่น สนทะเล ชมพู่ป่า โพทะเล มะส้าน เตยทะเล ไม้พื้นล่าง เช่น ผักบุ้งทะเล

4. สังคมพืชทดแทน จากการทำเหมืองแร่ดีบุกบริเวณเกาะพระทอง ซึ่งเป็นพื้นที่ราบสภาพดินขาดแร่ธาตุ ไม้เด่นในพื้นที่จะเป็นไม้เสม็ดขาว ขึ้นเป็นกลุ่มบริเวณแอ่งน้ำ และพื้นที่โล่งกว้าง ไม้เสม็ดขึ้นอยู่ห่างกัน และ

5. แหล่งหญ้าทะเล จากการสำรวจการแพร่กระจายและพื้นที่ปกคลุมของหญ้าทะเลชนิดต่างๆ บริเวณหาดทุ่งนางดำโดยวิธี visual estimation พบว่ามีการแพร่กระจายสูง หาดดังกล่าวเป็นพื้นที่ขายหาดฝั่งปากคลองคุระ ความขุ่นใสค่อนข้างน้อย แม่น้ำต่อเนื่องไปบริเวณหาดทุ่งนางดำระหว่างเนินทรายและชายฝั่งเกิดมีลักษณะคล้ายแอ่งน้ำขนาดใหญ่เป็นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของหญ้าทะเล ซึ่งพบหญ้าทะเลบริเวณนี้ 8 ชนิด โดยมีพื้นที่แพร่กระจายรวม 1.38 ตารางกิโลเมตร เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อยดังนี้ Cymodocea serrulata, Halodule uninervis H. ovalis, Syringodium isoetipolium, Enhalus acoroides, Halophrii และ H. minor นอกจากนี้ยังพบการแพร่กระจายของหญ้าทะเลบริเวณทิศตะวันออกของเกาะระ ความสำคัญของแหล่งหญ้าทะเลนั้นมีมากมาย ตั้งแต่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งเลี้ยงตัวอ่อน แห่ลงพบซ่อนศัตรูและเป็นแหล่งหากินของสัตว์ทะเลนานาชนิดอันได้แก่ กุ้ง ปู และปลา อีกทั้งเป็นแหล่งหากินของสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ คือ เต่าทะเล และพะยูนด้วยเช่นกัน
วันที่: 04 Jan 05 - 17:06

 ความคิดเห็นที่: 3 / 9 : 026965
โดย: ทัช@FCT
ปัจจุบันแหล่งหญ้าทะเลได้เกิดความเสื่อมโทรม เนื่องจากการทำประมงด้วยเครื่องมือบางชนิดและการเปลี่ยนแปลงของตะกอนในน้ำทะเลมากขึ้น จากการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง ทำให้หญ้าทะเลถูกทำลายลงเป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลต่อสัตว์ทะเลที่อยู่ในระบบนิเวศ ดังนั้นการควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ตามแนวชายฝั่งให้เป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง อันจะเป็นการฟื้นฟูสภาพระบบนิเวศแนวชายฝั่งให้เกิดผลดีต่อหญ้าทะเล จึงเห็นควรให้หน่วยงายของรัฐเข้ามาควบคุมอย่างจริงจัง
ทรัพยากรสัตว์ป่า

จากการสำรวจบนเกาะทุกเกาะตามถิ่นที่อยู่อาศัยประเภทต่างๆ โดยทำการจำแนกและบันทึกสัตว์ป่า ที่พบตัวจริงโดยใช้กล้องส่องทางไกลสำรวจร่องรอยของสัตว์ป่า และจากการสอบถามราษฎรที่อยู่ในท้องถิ่นได้ผลดังนี้

1. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จากการสำรวจเบื้องต้นพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น กวางป่า หมูป่า ค่างแว่นถิ่นใต้ ลิงแสม อีเห็นธรรมดา นากใหญ่ขนเรียบ นิ่ม กระรอกท้องแดง กระรอกปลายหางดำ ค้างคาวแม่ไก่เกาะ บ่าง และหนูเกาะ เป็นต้น จากการสำรวจเบื้องต้นโดยการสัมภาษณ์ชาวประมงข้อมูลการขึ้นมาเกยตื้นของพะยูนของการสำรวจทางอากาศของประชากรพะยูนของฝั่งอันดามันได้กำเนิดโดยใช้เรือบิน โพลารีส เป็นพาหนะในการสำรวจบินด้วยความเร็วต่ำ (70-80 กม./ชม.) ที่ความสูง 200-1,000 ฟุต โดยสำรวจในบริเวณแหล่งหญ้าทะเลพื้นที่ประมาณ 100-200 ตร.กม จำนวน 8 แห่ง ในจังหวัดพังงา กระบี่ สตูล ระหว่างวันที่ 31 มกราคม 2540 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2540 พบพะยูนระหว่าง 1-6 ตัว ใน 5 พื้นที่ในจังหวัดพังงาที่บ้านทุ่งนางดำ อำเภอคุระบุรี และข้อมูลเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2541 มีราษฎรพบเห็นพะยูนติดโป๊ะบริเวณด้านทิศตะวันออกของเกาะระ และอ่าวท่งนางดำบ่อยครั้งจึงเป็นหลักฐานยืนยันว่ายังพบพะยูนในพื้นที่ทำการสำรวจ ปัจจุบันพะยูนได้มีประมาณน้อยลงอย่างมากในน่านน้ำไทย เนื่องจากเป็นสัตว์ที่กินหญ้าทะเลสัตว์น้ำตื้นชายฝั่ง และเป็นสัตว์ที่เป็นอาหารของชาวประมง การเพิ่มจำนวนของเรื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพก่อให้เกิดการจับพะยูนมากขึ้น จนเข้าใจว่าอาจจะสูญพันธุ์ไปจากน่านน้ำไทยในเวลาอันใกล้พะยูนจึงเป็นทรัพยากรมีชีวิตในแหล่งหญ้าทะเลที่จัดได้ว่ามีความสำคัญและความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการศึกษาและคุ้มครองดูแลให้คงอยู่บริเวณแหล่งหญ้าทะเลต่อไป

2. นก ที่พบเห็น เช่น นกตะกรุม นกพญาปากกว้างท้องแดง นกเงือกกรามช้าง นกเงือกหัวงอน และจากการรายงานการสำรวจนกในพื้นที่เกาะระและเกาะพระทองของนักวิชาการจากต่างประเทศที่เข้าไปพักในสุดขอบฟ้ารีสอร์ทในช่วงระยะเวลา 1 ปี พบว่า มีนกถึง 106 ชนิด

3. สัตว์เลื้อยคลาน จากการสำรวจพบสัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่ ตะกวด *_* งูเหลือม งูพังกา งูลายสอใหญ่ จิ้งเหลนบ้าน เต่าหับ เต่าดำ เป็นต้น ปัจจุบันมีนักวิจัยชาวต่างประเทศได้เข้ามาทำการศึกษาวิจัยเต่าทะเล พบว่าบริเวณเกาะระและเกาะพระทองด้านทางทิศตะวันตกมีการพบเห็นเต่าทะเล โดยพบเห็นเต่าทะเลถึง 3 ชนิดด้วยกัน คือเต่ามะเฟือง เต่าหญ้า และเต่าตะนุ นอกจากนี้บริเวณชายหาดยังเป็นพื้นที่ที่เต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคมของทุกปี ซึ่งปัจจุบันประสบปัญหาอย่างหนักในเรื่องประชากรและอัตราการรอดตายของเต่าทะเล อันเนื่องมาจากเครื่องมือทำการประมงบางชนิด เช่นอวนลาก ทำให้เต่าทะเลในช่วงเจริญพันธุ์ลดลง จึงสมควรมีการจัดการในเรื่องของเต่าทะเลอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการทั้งด้านอนุรักษ์และการป้องกัน

4. ปลา เนื่องจากพื้นที่ทำการสำรวจเป็นพื้นที่สำคัญดังนั้นจะพบปลาที่สำคัญทางเศรษฐกิจและในแนวปะการัง โดยการสอบถามราษฎรและชาวประมงในพื้นที่ ดังนั้นปลาที่พบในพื้นที่ป่าชายเลน เช่น ปลาสีเสียด ปลากะพงข้างปาน ปลาตะกรับ ปลากะตัก ปลาปักเป้า ปลากระทุงเหวปากแดง ปลากระพงแดง ปลากดทะเล ปลาสีกุน เป็นต้น ปลาในแนวปะการัง เช่น ปลาสิงโต ปลากะรังลายขวางจุดน้ำเงิน ปลากระพง ปลาผีเสื้อ ปลาสลิดหิน ปลาการ์ตูนส้มขาว ปลาขี้ตังเบ็ดฟ้า และปลาปักเป้า เป็นต้น
วันที่: 04 Jan 05 - 17:07

 ความคิดเห็นที่: 4 / 9 : 026966
โดย: ทัช@FCT
วันที่: 04 Jan 05 - 17:08

 ความคิดเห็นที่: 5 / 9 : 026967
โดย: ทัช@FCT
คัดลอกมาจาก

http://www.thaioctober.com/yabbse/index.php?board=28;action=display;threadid=1416

บนผืนแผ่นดินคุระบุรี ดินแดนที่มากด้วยเกาะงามแห่งจังหวัดพังงา เป้าหมายแห่งการเดินทางสู่อาณาจักรกลางทะเลนาม “เกาะพระทอง” ครั้งนี้ มิได้เกิดขึ้นจากฤทธิ์เดชของ “ Unseen Thailand “ ที่โหมกระพือโดย ททท. ที่พยายามโหมกระพือให้เป็นทุ่งหญ้าซาฟารีกลางท้องทะเลไทยดอกครับ

แต่เป็นเพราะความกังวัลว่า เกาะพระทอง ที่ใสบริสุทธิ์ ทั้งธรรมชาติ และวิถีชีวิตของผู้คน จะเจริญรอยตามแหล่งท่องเที่ยวรุ่นพี่อย่าง เกาะภูเก็ต เกาะสมุย และเกาะช้างที่กำลังไล่หลังเกาะทั้งสองไปติด ๆ นั่นมากกว่าครับ

ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ( หรือ 5 ยังสับสนอยู่ ) ในบรรดาเกาะในน่านน้ำไทย โดยมีลักษณะทางกายภาพแตกต่างไปจากเกาะอื่น ๆ อย่างเด่นชัด พื้นที่เกะเกือบทั้งหมดแบนราบเป็นเนินทราย มีระบบนิเวศน์แบบทุ่งหญ้าสลับป่าเสม็ด ป่าพรุ และป่าชายเลน มีสัตว์ป่าหลายชนิดอาศัยแต่ดั้งเดิม โดยเฉพาะกวางม้าป่า และนกที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างนกตะกรุมหัวโกรนอาศัยอยู่จำนวนหนึ่ง ( ยืนยันว่าเห็นกับตา แต่ถายภาพไม่ทันครับ เพราะทีมของผมอยู่บนเรือไม่อาจตั้งกล้องให้นิ่งสนิท และเมื่อค่อย ๆ ขยับเรือเข้าฝั่ง นกตะกรุมสองตัวที่อวดโฉมอยู่ริมฝั่งเลน ก็พากันบินหนีพวกเราไป )

ผู้คนที่ประกอบอาชีพประมงชายฝั่งทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ของประชากร วิถีชีวิตของพวกเขาจึงเรียบง่าย และมีความเกี่ยวดองระหว่างกันฉันท์ญาติพี่น้อง ( แต่งงานไขว้ไปไขว้มา และ ผสมกลมกลืนกันระหว่างชาวจีนไหหลำและชาวมอร์แกน) กับจิตรสำนึกด้านการอนุรักษ์ น่าจะกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า คนที่นี่มีจิตรสำนึกไม่แพ้ใคร กลุ่มหรือองค์กรชาวบ้านไปจำเป็นสำหรับคนพระทอง หลายต่อหลายครั้งที่พวกเขาเริ่มต้นการอนุรักษ์กันอย่างพร้อมเพียง กวางป่าจำนวนหลายสิบตัวที่คงจำนวนและเพิ่มขึ้นเป็นเพราะพวกเขารักษาสัจจะ ห้ามกิน ห้ามล่า ( ขนาดแค่หลานกำนัน กินกวางที่หมากัดตาย กำนันยังจับส่งตำรวจด้วยตนเอง แถมยังขอร้องตำรวจไม่ให้ประกันตัว เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง ) อีกทั้งพวกเขายังต่อต้านสัมปะทานเตาถ่าน ที่ตัดไม้โกงกางอย่างไร้การจัดการที่ดี จนต้องเลิกสัมปะทานไปในที่สุด

แต่ความน่าสะพึงกลัวสำหรับชาวบ้านที่นี่ก็ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น เมื่อการท่องเที่ยวกำลังรุกคืบเข้าสู่อาณาจักรเล็ก ๆ ของพวกเขา .. นายทุนจำนวนหนึ่งกว้านซื้อที่ดิน ( ยุคชาติชายครั้งหนึ่ง และ ล่าสุดหลังจาก ททท. โปรโมทให้เกาะพระทองเป็นหนึ่งใน Unseen in Thailand การซื้อขายที่ดินก็กลับมาบูมอีกครั้งหนึ่ง )

.. ขณะเดียวกัน การประกาศให้กระพระทองเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งใหม่ก็กำลังเดินหน้าเต็ม ตัว !!!

เพระเหตุไรชาวบ้านที่นี่จึงกลัวอุทยาน ?

เพระประสบการณ์ที่ผ่านมาซิครับ !!! พวกเขาไม่เคยลืมผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการประกาศให้หมู่เกาะสุรินทร์ที่พวกเขาเคยอาศัยเป็นแห่งหาปลาเลี้ยงชีพกันมาหลายชัวอายุคน เป็นอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์

… ผืนน้ำที่ถูกประกาศเป็นเขตอุทยานทั้งหมดถูกห้ามมิให้ชาวบ้านเข้าหาปลาและผูกเรือ แม้แต่หลบลมหลบภายุก็ห้ามอย่างเด็ดขาด และเมื่อทางการ ( โดยกรมอุทยานฯ ) กำลังจะรุกคืบเอากับพวกเขา โดยการประกาศเขตอุทยานทับที่อยู่อาศัยและที่ทำมาหากินของพวกเขาอีกครั้ง
วันที่: 04 Jan 05 - 17:09

 ความคิดเห็นที่: 6 / 9 : 026968
โดย: ทัช@FCT
วันนี้กำลังมีความพยายามจัดตั้งอุทยานทับพื้นที่เกาะพระทอง !!!!

ความสลับซับซ้อนของปัญหาระหว่างชาวบ้านกับทางราชการ และนายทุนกับทางราชการคือปัญหาหนึ่งของคนเกาะพระทอง ที่บางทีก็ไม่อาจแยกออกจากกันได้จนดูเหมือนจะเป็นแนวร่วมกันระหว่างชาวบ้านกับนายทุนอย่างบังเอิญ ( เจ้าของที่ดิน - เจ้าของรีสอร์ท )

หากเรามองปัญหาของชาวบ้านกับปัญหานายทุนอย่างไม่แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด ก็คงไม่มีทางแก้ปัญหาได้ ทั้ง ๆ ที่ธรรมชาติของชาวบ้านบนเกาะพระทองกับนายทุนเจ้าของที่ดินรายใหญ่ทั้งรายที่ซื้อที่ดินมือเปล่า และ ซื้อโดยมีเอกสารสิทธิ์ ต่างก็มีพื้นฐานของการคัดค้านการประกาศอุทยานแตกต่างกันอย่างชัดเจน

นายทุนเสียโอกาสจึงคัดค้าน !!

ชาวบ้านเขาเสียทุกอย่างจึงคัดค้าน !!!

ทีนี้เรามามองถึงเจตนารมของการประกาศอุทยานว่า มีเป้าหมายอยู่ที่สิ่งใด
เจตนารมของการก่อตั้งหากว่ากันโดยหลักการก็ต้องบอกว่า เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวม - เพื่อคงไว้ซึ่งธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของเกาะพระทอง - ฯลฯ
ทีนี้เรากลับไปมองถึงสิ่งที่ชาวบ้านปฏิบัติต่อเกาะพระทองที่มีอยู่เสมอมา ว่า สิ่งที่เขาทำอยู่เป็นเจตนารมที่สอดคล้องกับความต้องการของส่วนรวมหรือไม่
- ชาวบ้านขายที่ดินให้นายทุน ? - ใช่ครับ ส่วนหนึ่งของชาวบ้านนั้นมีแน่ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด
- การปกป้องผืนปา ( ชายเลน ) ที่ชาวบ้านต่อต้านสัมปทานเตาถาน ที่ตัดกันจนพินาศ โดยปราศจากการควบคุมและตรวจสอบโดยผู้ให้สัมปะทาน (กรมป่าไม้ขณะนั้น) จนกระทั่งสัมปะทานเตาถ่านต้องถอนตัวออกไป ( กรณีนี้มีมุมมองจากกรมป่าไม้ว่า – สัมปทานเหล่านี้ช่วยให้ป่าชายเลนไม่ถูกยึดเป็นบ่อกุ้ง ! - ความจริงก็คือ ไม่มีใครเข้าไปทำบ่อกุ้งที่เกาะพระทองอยู่แล้ว แต่กับป่าชายเลนบนฝั่งคุระบุรี กลับถูกบุกรุกเข้าทำบ่อกุ้งโดยที่กรมป่าไม้ไม่ได้เข้าไปจัดการอะไรเลย )
- สัตว์ป่า กวางม้าป่า ที่เคยเหลือเพียง 7 – 8 ตัว ที่ชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์ไว้ จนเพิ่มจำนวนเป็น 30 – 40 ตัวในปัจจุบัน
- ทิ้งปะการังเทียมรอบเกาะ ป้องกัน อวนราก – อวนรุน เข้าจับปลาในพื้นที่น้ำตื้น
- เพาะพันธุ์กล้วยไม้เพื่อเตรียมคืนสู่ป่า โดยภูมิปัญญาชาวบ้าน
- กันเขตหน้าบ้าน ( ริมทะเล ) เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ หอยชักตีน และปลิงทะเล ( หอยชักตีนมีราคาแพงมาก – แต่ที่เกาะพระทองก็มีมากเพราะชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์ไว้ )

วันนี้คนเกาะพระทองกำลังเป็นปัญหากับระบบราชการ ซึ่งเป็นระบบราชการที่ไม่อาจให้หลักประกันอะไรกับเราได้ว่า จะปกป้องทรัพยากรไว้ได้ดีเท่าที่ชาวบ้านได้ช่วยกันรักษาไว้ ดั่งเช่นประสบการณ์ความล้มเหลวที่เราต่างรับรู้กันว่ากรมป่าไม้ (ในอดีต – กรมอุทยานฯในปัจจุบัน ) ปล่อยให้ป่าไม้ไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไรถูกลักลอบตัด – นายทุนบุกรุกที่ป่าสงวน ไงครับ
วันที่: 04 Jan 05 - 17:09

 ความคิดเห็นที่: 7 / 9 : 026969
โดย: ทัช@FCT
ฝากด้วยครับ กับสิ่งที่เรากำลังจะทำ
วันที่: 04 Jan 05 - 17:10

 ความคิดเห็นที่: 8 / 9 : 027013
โดย: J!MMY
ได้ฟังจากพี่ทัชเล่าให้ฟังทางโทรศัพท์วันนี้แล้ว

ผมได้แต่บอกไว้อย่างเป็นห่วงเล็กน้อยครับว่า

แน่นอนว่า การบริจาค และความช่วยเหลือของเราในเรื่อง
การจัดสร้างบ้านให้กับผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่นั้น
ไม่มีเจตนาอื่นใดแอบแฝงเลย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด
ข้อนี้ผมทราบดี และเข้าใจดี

เพียงแต่ว่า..เหตุการณ์ไม่คาดคิดบางประเภทมันก็อาจจะมีสิทธิ์เกิดขึ้นได้

ยังไงๆก็ระมัดระวังนิดนึงแล้วกันครับผม
วันที่: 04 Jan 05 - 21:26

 ความคิดเห็นที่: 9 / 9 : 027080
โดย: AAH
วันที่: 05 Jan 05 - 10:39