Close this window

คำศัพท์ทางวิศวกรรมยานยนต์ที่ควรรู้
คำศัพท์ทางวิศวกรรมยานยนต์ที่ควรรู้


A-Arm

ตามความหมายก็คือ ส่วนที่เป็นแขนของระบบกันสะเทือนอิสระอย่างหนึ่ง มีรูปร่างคล้ายตัว "A" ที่มุมทั้งสามสามารถขยับขึ้นลงได้อย่างอิสระ จากจุดหมุนของขาและส่วนปลาย บ้างก็เรียกว่า "ปีกนก" ตามลักษณะการทำงานของมันมีทั้งตัวบนและตัวล่าง ใช้ได้กับกันสะเทือนหน้าและหลัง หากมีปีกนกคู่ก็จะเห็นคำว่า "Double Wishbone" อย่างที่ใช้อยู่ในรถ Honda นั่นเอง

ABS (Anti-Lock Brake System)

มีใช้อยู่ในรถหลายทั่วๆ ไป เป็นระบบควบคุมการทำงานของเบรก ป้องกันไม่ให้เกิดอาการล็อคของล้อ เมื่อใช้เบรกอย่างรุนแรงหรือกะทันหัน ทำให้สามารถควบคุมรถให้อยู่ในเส้นทางและเกิดความปลอดภัย การทำงานจะเป็นแบบ "จับ-ปล่อย" สลับกันหลายๆ ครั้ง ซึ่งนอกจากช่วยในการควบคุมรถบนทางตรงแล้ว ยังช่วยให้การเบรกหรือชะลอความเร็วขณะเข้าโค้งมีความปลอดภัยยิ่งขึ้นด้วย

Active Safety

หมายถึงระบบหรืออุปกรณ์และส่วนประกอบต่างๆ ที่มีส่วนช่วยให้การขับขี่เกิดความปลอดภัย ไม่เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายๆ

Airbag

ถุงลมนิรภัยที่ช่วยให้หน้าตากับทรวงอกของผู้ขับไม่เกิดอันตรายเมื่อเกิดการชนกระแทกด้านหน้าอย่างรุนแรง ปกติจะติดตั้งซ่อนอยู่ตรงกลางพวงมาลัย และมีใช้สำหรับผู้โดยสารด้วย นอกจากนี้ยังมีถุงลมนิรภัยสำหรับป้องกันด้านข้างติดตั้งในรถบางรุ่นอีกด้วย

Balance Shafts

บางคนเรียกว่า "เพลาถ่วงดุล" ซึ่งมันก็คือชาฟท์พิเศษที่ช่วยลดอาการสั่นกระพือของเครื่องยนต์ให้น้อยลง มีติดตั้งอยู่ในเครื่องยนต์ของรถหลายยี่ห้อ

Bead

เป็นส่วนของยางรถที่สัมผัสกับขอบล้อ สำคัญมากกับยางประเภท "Tubeless" เพราะจะเป็นตัวทำหน้าที่เสมือน "ซีล" ป้องกันการรั่วไหลของแรงดันลมภายในไม่ให้เล็ดลอดออกมา

Blow-Off Valve

อันนี้เป็นของเล่นสำหรับเครื่องยนต์เทอร์โบ เป็นวาล์วทางเดียวที่ทำหน้าที่ระบายแรงดันอากาศเมื่อสูงกว่ากำหนด ออกไปภายนอก ทำหน้าที่คล้ายๆ กับ Wastegate ที่ระบายแรงดันไอเสียที่เกินความต้องการนั่นแหละ

Boost

บูสท์หรือความดันบรรยากาศเสริมอัดเข้าสู่เครื่องยนต์เทอร์โบหรือซุปเปอร์ชาร์จ สำหรับพวกรักความแรงทั้งหลาย

B-Post หรือ B-Pillar

หมายถึงโครงเสากลางของรถนั่นเอง เอาไว้รองรับน้ำหนักหลังคาส่วนกลาง เพื่อความแข็งแรงในรถทั่วไป แต่สำหรับ รถฮาร์ดท็อปแล้วจะไม่มีเสากลางตัวนี้

Boxer

คือเครื่องยนต์ที่มีลักษณะแบบ "Flat" หรือนอนยัน ลูกสูบจะขยับด้านข้างจากซ้ายไปขวา ซึ่งมีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ และมีพลังดุเดือด ช่วยให้รถเกาะถนนได้ดีอีกด้วย

Brakerless Ignition

หมายถึง "จานจ่าย" หรือระบบจุดระเบิดของรถยนต์ที่ไม่ใช้ทองขาว เป็นระบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เพราะไม่วุ่นวายต่อการบำรุงรักษา ใช้อิเล็กทรอนิกส์เป็นตัวควบคุม

Camshaft

"เพลาลูกเบี้ยว" ที่ไม่ต้องการคำอธิบายมาก ในแคมหนึ่งแท่งจะมีลูกเบี้ยวติดกันอยู่หลายอัน สำหรับเป็นตัวกำหนดเวลาการเปิด-ปิดวาล์วไอดีและไอเสีย

Caster

เป็นมุมที่วัดจากแกนบังคับเลี้ยว (หรือแนวของแกนสตรัท) กับแนวดิ่ง ปกติมักจะตั้งให้แคสเตอร์เป็นค่า + เพราะเมื่อแกนบังคับเลี้ยว (สตรัท) เอียงไปทางด้านหลังจะช่วยให้ทรงตัวดีขึ้น ล้อจะพยายามตรงไปข้างหน้าเสมอ สังเกตจากเวลาเลี้ยว ล้อจะหมุนกลับมาอยู่แนวตรงได้เอง

Cat หรือ Catcon หรือ Catalytic Converter

"ระบบกรองไอเสีย" เพื่อลดปริมาณของมลพิษที่คายออกมาพร้อมกับไอเสียของรถยนต์ หน้าตาคล้ายหม้อพักไอเสีย ภายในมีตัวกรองลักษณะคล้ายรังผึ้ง ส่วนมากทำมาจากเซรามิก มีให้ดูใต้ท้องรถรุ่นใหม่ๆ แทบทุกคัน

Direct Injection

ชื่อนี้คุ้นหูกับพวกรถกะบะมากกว่า แต่เดี๋ยวนี้รถยนต์ก็มีการคิดค้นพัฒนามาใช้เหมือนกัน ความหมายคือ เป็นระบบการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด หากแต่เป็นการฉีดจ่ายน้ำมันเข้าไปในห้องเผาไหม้ในกระบอกสูบโดยตรงเลย

DOHC (Doble Over Head Camshafts)

เรียกกันติดปากว่า "ทวินแคม" ใช้เพลาลูกเบี้ยวสองตัวแยกกันทำหน้าที่เปิดปิดวาล์ว โดยตัวหนึ่งจะเป็นฝั่งไอดี อีกตัวหนึ่งเป็นฝั่งไอเสีย

Damper

ไม่ค่อยเรียกกันในหมู่ช่าง แต่จะคุ้นหูมากกว่าหากจะเรียกว่า โช๊คอัพ เป็นตัวหน่วงช่วยลดการเต้นของสปริง มีหลายแบบ หลายขนาด หลายราคา แล้วแต่จะเลือกใช้

DIN

หน่วยวัดกำลังของเครื่องยนต์เป็นแรงม้า มาตรฐานของเยอรมัน ย่อมาจาก Deutsche Industrie Norman หรือ German Industrail Standards ทำการวัดกำลังเครื่องยนต์โดยติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ครบถ้วนตามปกติของการใช้งาน

Dry Sump

อ่างน้ำมันเครื่องแบบแห้ง ใช้ในรถแข่งเป็นส่วนใหญ่ เพราะไม่มีปัญหาต่อการเร่ง เบรก สาดโค้ง ซึ่งอ่างน้ำมันทั่วไปอาจส่งน้ำมันไปหล่อเลี้ยงหล่อลื่นเครื่องยนต์ไม่ทันหรือขาดช่วง ระบบนี้ใช้ภาชนะบรรจุน้ำมันเครื่องจากภายนอกและมีปั๊มดูดไปเลี้ยงเครื่องยนต์อีกต่อหนึ่ง มีผลทำให้วางเครื่องยนต์ไว้ต่ำกว่าปกติได้

ECU (Electronic Control Unit)

ชุดควบคุมอิเลกทรอนิกส์ พบได้ในรถที่ใช้เครื่องยนต์หัวฉีดเป็นส่วนใหญ่ ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลที่ส่งมาจากเซนเซอร์ตามจุดต่างๆ แล้วส่งคำสั่งไปตามวงจรให้ระบบต่างๆ ทำงานเหมาะสมกับข้อมูลนั้นๆ อย่างเที่ยงตรงแม่นยำ

ECT (Electronic Controlled Transmission)

ระบบการทำงานของเกียร์อัตโนมัติที่ควบคุมด้วยอิเลกทรอนิกส์

Engine Brake

หมายถึงการเบรกชะลอความเร็วของรถ โดยใช้กำลังฉุดหน่วงของเครื่องยนต์กระทำแทนการเหยียบเบรกโดยตรง เทคนิคนี้มาจากการ "เชนจ์เกียร์ลงต่ำ" แต่อย่าทำข้ามจังหวะ ประเภทมาเกียร์ห้าแล้วกระชากลงเกียร์หนึ่ง แบบนี้เกียร์กระจายลูกเดียว

Fastback

เป็นลักษณะของรถยนต์ประเภทหนึ่ง ที่มีหลังคาลาดเอียงไปยังด้านท้าย โดยสามารถเปิดยกฝากระโปรงส่วนหลังในแนวเทลาดนี้ได้ทั้งบาน เบาะหลังมักจะออกแบบให้พับเก็บได้ เพื่อเพิ่มเนื้อที่ในการบรรทุก เรียกได้อีกอย่างว่า แฮทช์แบค ลิฟท์แบค หรือสวิงแบค

Final Drive Ratio

หรืออัตราทดเฟืองท้าย หาค่าได้ง่ายๆ โดยการชำแหละกระเปาะเฟืองท้ายออกแล้วนั่งนับฟันของเฟืองเพลากลาง (ตัวเล็ก) กับฟันของเฟืองเพลาท้าย (วงใหญ่) แล้วเอาค่าทั้งสองมาหารกัน หรือที่เรียกกันอีกอย่างว่า "เดือยหมูกับบายศรี" นั่นแหละ

GT คำย่อลักษณะรถประเภท Grand Touring

ซึ่งเหมาะที่จะขับด้วยความเร็วสูงเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน

Inter Cooler

หน้าตาคล้ายกับหม้อน้ำรถ แต่ใช้ระบายความร้อนหรือลดอุณหภูมิของอากาศ ภายใต้ความดันหลังจากถูกอัดมาจากเทอร์โบก่อนเข้าห้องเผาไหม้ มีสองแบบคือ ระบายความร้อนด้วยอากาศ หรือระบายความร้อนด้วยน้ำ

LSD (Limited-Slip-Differential)

เป็นอุปกรณ์ที่ใส่เสริมเข้าไปในเฟืองท้าย โดยจะมีคลัทช์สำหรับจับล็อคเพลาขับทั้งสองข้าง เพื่อให้ล้อเกิดแรงขับเคลื่อนตลอดเวลา มีประโยชน์มากสำหรับรถประเภทขาลุยวิบาก

Muffer

ชุดหม้อพักปลายท่อไอเสีย เดี๋ยวนี้มีของแต่งที่สามารถให้ผลทางเพิ่มกำลังม้า โดยมีเสียงไม่ดังเกินไปออกมาขายกันหลายยี่ห้อ

MPV (Muti Purpose Vehicle)

เป็นคำย่อที่ใช้แทนความหมายของยานยนต์อเนกประสงค์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน

Muti-Valve

เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็ใช้แต่เครื่องยนต์แบบนี้กันทั้งนั้น หมายถึงเครื่องยนต์ที่มีวาล์วมากกว่าสองตัวต่อหนึ่งสูบ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็น เครื่อง 12 วาล์ว 16 วาล์ว จนถึง 24 วาล์ว ก็ล้วนแต่อยู่ในข่ายด้วยกันทั้งสิ้น

N (Neutral)

ตัวย่อของตำแหน่งเกียร์ว่างในระบบเกียร์อัตโนมัติ ที่ไม่มีการถ่ายทอดกำลังนั่นเอง

Oil Cooler

ใช้เป็นตัวระบายความร้อนของน้ำมันหล่อลื่นคล้ายหม้อน้ำนั่นแหละ ยังมีที่ใช้สำหรับระบายความร้อนน้ำมันเกียร์ น้ำมันเฟืองท้ายที่นิยมใช้ในรถแข่งอีกด้วย

Overhaul

เจอคำนี้เมื่อไหร่ก็กระเป๋าแห้งทันที หมายถึง "การยกเครื่อง" แต่ไม่ได้เอาไปทิ้ง เขาเอาไปปรับปรุงสภาพให้กลับมามีความสมบูรณ์ใหม่อีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นการซ่อมใหญ่

Oversquare

เป็นคำที่ใช้เรียกเครื่องยนต์ ที่มีขนาดของกระบอกสูบโตกว่าระยะช่วงชักของลูกสูบ

Oversteer

คืออาการ "แหกโค้ง" นั่นเอง เกิดเพราะมุมลื่นไถลของล้อหลังมากกว่าล้อหน้า ในทางตรงข้ามจะเป็น Understeer หรืออาการ "หน้าดื้อโค้ง" เลี้ยวไม่เข้า อันนี้เป็นอาการของรถขับล้อหน้าเขาล่ะ

Passive Safety

อันนี้เป็นระบบความปลอดภัยที่เตรียมไว้ช่วยบรรเทายามเกิดอุบัติเหตุ ผ่อนเหนักเป็นเบา เช่น การออกแบบโครงสร้างนิรภัยของรถ ถุงลมนิรภัย ฯลฯ

Roll Cage

โครงเหล็กเสริมป้องกันห้องโดยสารและตัวรถ ใช้ในรถแข่งที่เห็นเชื่อมติดกันเป็นโครงเต็มไปหมด ส่วน Rollbar ก็รวมอยู่ในหัวข้อนี้ด้วยเหมือนกัน

Sub Frame

เป็นเฟรมที่ติดตั้งเข้าไปกับเฟรมหลักของรถยนต์ สามารถใช้รับห้องเครื่อง เกียร์ และช่วงล่างได้ แทนที่จะติดตั้งกับตัวถังโดยตรง ช่วยลดเสียงและการสั่นสะเทือนได้ดีอีกด้วย

ULP

น้ำมันไร้สารตะกั่ว หรือ อัน-ลีด นั่นเอง ย่อมาจาก Unleaded Petrol ความหมายเดียวกับ Lead Free ที่อื่นเข้าใช้กันมาเป็นสิบๆ ปี แต่บ้านเราเพิ่งจะตื่นตัว

Variable Intake

เป็นลักษณะการออกแบบทางเดินในช่องไอดี ให้มีขนาดความยาวต่างกัน โดยมีลิ้นเปิดปิดการทำงานที่สัมพันธ์กับรอบเครื่อง มีสูตรอยู่ว่ารอบต่ำทางยาว รอบสูงทางสั้น





ขอบคุณ คุณธนสิทธิ์ บุญตะนัย (เก่ง)
โดย: xxx   วันที่: 31 Jul 2005 - 19:55