Close this window

วันฉัตรมงคล
วันฉัตรมงคล

พิธีราชาภิเษก หมายถึง พระราชพิธีในการสถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์ หรือพิธีที่จัดขึ้นเพื่อรับรองฐานะความเป็นประมุขของรัฐอย่างเป็นกิจลักษณะ

ส่วนคำว่า ฉัตรมงคล หมายถึง พระราชพิธีฉลองเศวตฉัตร ซึ่งทำในวันตรงกับวันบรมราชาภิเษก ดังนั้น วันฉัตรมงคล ก็คือวันที่พระมหากษัตริย์ทรงกระทำพิธีบรมราชาภิเษกเสด็จขึ้นครองราชย์นั่นเอง

โดยธรรมเนียมพระมหากษัตริย์พระองค์ใดที่ยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะไม่ใช้คำว่า “พระบาท”นำหน้าคำว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และจะยังไม่ใช้นพปฎลเศวตฉัตรหรือฉัตร ๙ ชั้น (คำว่าเศวตฉัตร คือ ฉัตรสีขาวใช้เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบันได้ทรงกระทำพิธีบรมราชาภิเษกเสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ด้วยเหตุนี้ เราจึงถือว่า วันที่ ๕ พฤษภาคมของทุกปีเป็นมงคลสมัย เป็นวันเฉลิมฉลองวันครบรอบแห่งงานพระบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์

ซึ่งเรียกอย่างเป็นทางการว่า “พระราชพิธีฉัตรมงคล” ซึ่งในวันนี้จะเป็นวันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเครื่องราชอิสริยยาภรณ์ตราจุลจอมเกล้าแก่ผู้ที่ได้รับพระราชทานทั้งหญิงและชายด้วย โดยสตรีที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จตุตถจุลจอมเกล้าขึ้นไป จะได้ใช้คำนำหน้านามว่า “คุณหญิง” ถ้าได้รับทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษขึ้นไป ใช้คำนำหน้านามว่า “ท่านผู้หญิง” ส่วนสตรีที่ไม่มีสามี หากได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าตั้งแต่จตุตถจุลจอมเกล้าขึ้นไป ให้ใช้คำนำหน้านามว่า “คุณ”

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ รัฐบาลในนามของประชาชนทั้งประเทศขณะนั้นได้เข้าเฝ้าฯสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กราบบังคมทูลฯขอพระราชทานอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบต่อจากพระบรมเชษฐาธิราช เป็นพระมหากษัตริย์ไทยลำดับที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

โดยขณะนั้นทรงมีพระชนมายุเพียง ๑๙ พรรษา และเนื่องจากพระองค์ยังทรงศึกษาไม่จบ จึงได้เสด็จกลับไปศึกษาต่อยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้ทรงเปลี่ยนการศึกษาจากสาขาวิทยาศาสตร์ มาเป็นวิชากฏหมายและการเมืองเพื่อเตรียมพระองค์ให้พร้อมที่จะรับพระราชภาระในการบริหารประเทศและดูแลทุกข์สุขของพสกนิกรต่อไป

ครั้นเสด็จนิวัตกลับประเทศไทยในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้ประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ต่อจากนั้นก็ได้โปรดเกล้าฯจัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๙๓ และจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓

ในหนังสือวันสำคัญโครงการปีรณรงค์วัฒนธรรมไทย ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้กล่าวถึง พระราชพิธีฉัตรมงคล ว่า ได้ริเริ่มขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งแต่เดิมก่อนหน้านี้ ยังไม่มีพระราชพิธีดังกล่าว มีเพียงการจัดงานสมโภชเครื่องราชูปโภคในเดือนหกทางจันทรคติของพนักงานฝ่ายหน้าและฝ่ายในพระบรมมหาราชวัง และยังไม่ถือเป็นงานหลวง

ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ ๔ เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงพระราชดำริว่า วันบรมราชาภิเษกเป็นมหามงคลสมัย ซึ่งประเทศทั้งหลายที่มีพระเจ้าแผ่นดินย่อมนับถือว่าวันนั้นเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล ต่างก็จัดงานขึ้นเป็นอนุสรณ์ ส่วนประเทศของเรายังไม่เคยมีการจัดจึงควรจัดขึ้น แต่หากจะประกาศให้คนทั้งหลายว่าจะจัดงานวันฉัตรมงคลหรือวันบรมราชาภิเษก ผู้คนขณะนั้นยังไม่คุ้นเคย และไม่เข้าใจจะต้องทรงอธิบายยืดยาว จึงโปรดให้เรียกตามชื่อเก่าไปก่อนว่า “งานสมโภชเครื่องราชูปโภค” แต่ทำในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษก โดยนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำเดือน ๖ และรุ่งขึ้นอีกวัน พระสงฆ์ฉันที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ด้วยเหตุนี้

จึงถือว่าพระราชพิธีฉัตรมงคล เริ่มมีในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นครั้งแรก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการเพิ่มการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า มีการยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติ ชุมนุมถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และการเวียนเทียนสมโภชเครื่องราชกกุธภัณฑ์ อันหมายถึง เครื่องหมายแสดงความเป็นราชาธิบดี มี ๕ อย่าง ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฏ พระแสงขรรค์ชัย ธารพระกร (ไม้เท้า) วาลวิชนี (พัดกับแส้จามรี) และฉลองพระบาท ที่รวมเรียกว่า “เบญจราชกกุธภัณฑ์” (อ่านว่า เบน-จะ-ราด-ชะ-กะ-กุด-ทะ-พัน) และต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ยังได้เพิ่มการพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ซึ่งเป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลสนองพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระบูรพมหากษัติยาธิราชด้วย

สำหรับพระราชพิธีฉัตรมงคล ในรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดงาน ๓ วัน วันแรกตรงกับวันที่ ๓ พฤษภาคมจะเป็นงานพระราชราชกุศลทักษิณานุประทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย อุทิศถวายแด่พระบรมราชบุรพการี เป็นพิธีสงฆ์ พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์แล้วพระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนา พระสงฆ์สดับปกรณ์พระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุรพการี (สดับปกรณ์คือ พิธีสวดมาติกาบังสุกุล) วันที่ ๔ พฤษภาคม เริ่มพระราชพิธีฉัตรมงคล หัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคล พระสงฆเจริญพระพุทธมนต์เย็น

วันที่ ๕ พฤษภาคม อันเป็นวันฉัตรมงคล จะมีงานเลี้ยงพระและสมโภชเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ทหารยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติ ๒๑ นัด และวันนี้ก็จะมีการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อีกทั้ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เปิดปราสาทพระเทพบิดรในพระบรมมหาราชวังให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการและประชาชนทั่วไปได้เข้าไปกราบถวายบังคมพระบรมรูปตั้งแต่ ๙.๐๐-๑๗.๐๐ น.

ในส่วนประชาชนและหน่วยงานต่างๆ อาจจะร่วมเฉลิมฉลองในวันนี้ด้วยการประดับธงชาติตามอาคารสถานที่ตั้ง หรืออาจจะจัดการเสวนา หรือสัมมนาทางวิชาการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชพิธีฉัตรมงคลและความสำคัญของพระราชพิธีนี้ว่าเป็นมาอย่างไร หรือกิจกรรมอื่นๆที่เห็นว่าเหมาะสม แต่ที่สำคัญที่ประชาชนชาวไทยทุกคนควรระลึกถึงในวันฉัตรมงคลนี้ก็คือ เป็นวันที่เราได้พระมหากษัตริย์ไทยอีกพระองค์หนึ่งที่ทรงคุณอันประเสริฐยิ่ง ด้วยตลอดระยะเวลาอันยาวนาน

นับแต่ได้ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร อันเป็นพระปรมาภิไธยตามพระสุพรรณบัฏ หรือที่ประชาชนชาวไทยได้น้อมเกล้าฯถวายพระราชสมัญญาว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช” ก็ได้ทรงตรากตรำพระวรกายบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการเพื่อพสกนิกรชาวไทยสมดังพระราชปณิธานที่ตั้งไว้ทุกประการ

ดังนั้น จึงควรที่เราทุกคนจะได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณด้วยความจงรักภักดีและพร้อมใจกันประพฤติปฏิบัติตามรอยเบื้องพระยุคลบาทให้สมกับที่พระองค์ได้ทรงเสียสละเพื่อพวกเราชาวไทยตลอดมา


อมรรัตน์ เทพกำปนาท
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
โดย: 22   วันที่: 4 May 2007 - 09:02


 ความคิดเห็นที่: 1 / 2 : 265021
โดย: BIG DDT
วันที่: 04 May 07 - 17:03

 ความคิดเห็นที่: 2 / 2 : 265710
โดย: nid
เยี่ยม ชื่นชมคุณจิง ๆ อย่าเปลี่ยนแนวนะ
วันที่: 08 May 07 - 21:54