Close this window

เรื่องฟิมล์ปรอท อ่ะคับ
ไม่ทราบว่าตอนนี้มีออกกฏเรื่องการติดฟิมล์ปรอทหรือยังคับ ข้างหน้าติดได้กี่ % และที่อื่นๆ ด้วยคับ สงสัยมากเลย พอดีพ่อไปจองมาสด้าสามให้แล้ว และมันเป็นรถคันแรกของผมอ่ะคับ เลยอยากติดฟิมล์ปรอท เพราะมันสวยดี และรถมาสด้ารูปทรงสวยด้วยอ่ะคับ แต่ถ้าติดแล้วโดนจับจะโดรปรับเยอะหรือเปล่าครับ เพราะผมถามพวกเพื่อน ๆ เค้าบอกว่าไม่เคยได้ยินเรื่องกฏการติดฟิมล์เลย ดังนั้น เลยเข้ามาถามพวกพี่ ๆ ที่เป็นที่พักพิงใจแหล่งที่สองคับ นาน ๆ จะมีข้อสงสัยสักที แฮะ ๆ
โดย: jokek   วันที่: 27 Oct 2004 - 19:13


 ความคิดเห็นที่: 1 / 11 : 013528
โดย: lantis สวยดี
อืมมม... แต่ฟิลม์ชนิดนี้มันรบกวนสายตาคนอื่นๆ ที่ร่วมถนนด้วยกันน่ะครับ
ใจเขาใจเราด้วยดีกว่าครับ
วันที่: 27 Oct 04 - 22:50

 ความคิดเห็นที่: 2 / 11 : 013552
โดย: มือใหม่หัดขับ
เซลล์โตโยต้าบอกว่าด้านหน้าติดได้ 40% ด้านข้าง 60% ครับ
แต่จริงเท็จยังไงตามกฎหมายไม่รู้เหมือนกันครับ
ป.ล.
น่าอิจฉาจัง....
วันที่: 28 Oct 04 - 07:52

 ความคิดเห็นที่: 3 / 11 : 013564
โดย: บาส
ผมว่าอย่าเสี่ยงติดดีกว่าครับ
กม. บ้านเรามันแปลกๆ เดี๋ยวจะเหมือนกับเมื่อคราวที่แล้วที่ห้ามฟิลม์ดำเกิน40%
พอจะจับขึ้นมาก็จับดะไปหมด
มีอย่างที่ไหน ฟิล์มขายอยู่ในร้านแต่งรถไม่ผิด แต่พอรถเข้าไปติดปั๊บ ออกมาวิ่งบนถนนผิด กม.!!!
คราวนั้นก็ต้องไปเปลี่ยนอะไรกันวุ่นวายไปหมด
วันที่: 28 Oct 04 - 08:43

 ความคิดเห็นที่: 4 / 11 : 013567
โดย: rex 2.0
หลังจากยกเลิกกฏหมายฟิล์มกรองแสงสีเข้มเมื่อ 3 ปีก่อน ทำให้ผู้ผลิตรายต่าง ๆ คิดว่า ว่าไม่เป็นไรจึงนำเข้ารุ่นต่าง ๆ มามากขึ้นรวมถึงพวกที่ "สะท้อนแสง" ด้วย ณ ตอนนี้ยังไม่มีกฏหมายห้ามครับ ยังอยู่ในช่วงศึกษา มีการเรียกผู้ผลิตรายต่าง ๆ เข้าพูดคุยเพื่อให้ข้อมูล

ให้ข้อมูลเพิ่มอีกหน่อยว่า ฟิล์มกรองแสงสีเข้ม นั้นคนละชนิดกับแบบ สะท้อนแสงนะครับ
กรณีของน้อง jokek นั้นคิดว่าเป็น สะท้อนแสงครับ

การที่ยังไม่ กม. ชัดเจนก็มาจากข้อจำกัดที่ว่า การวัดค่าสะท้อนแสงให้ได้แน่นอนนั้น ยังต้องอาศัยการนำฟิลม์เข้าห้องแลบเพื่อตรวจสอบเท่านั้น แปลง่าย ๆ ว่า ตำรวจยังไม่มีเครื่องมือที่จะตรวจกันได้ง่าย ๆ เห็น ๆ อย่างในกรณีเครื่องเป่าตรวจแอลกอฮอล์ในลมหายใจ เป็นต้น

ข้อสรุปเบื้องต้นจึงเป็นในรูปของ เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบและตักเตือนเท่านั้น ยังไม่มีการจับกุมครับ ทางผู้ผลิตอย่าง ลามิน่า พยายามจะให้ กม. ออกมาบังคับใช้ที่ค่าสะท้อนแสงไม่เกิน 30% (กม.สหรัฐอยู่ที่ 35%)

สรุปว่าติดใด้ครับตอนนี้ไม่ผิดกม. แต่จะให้ดีควรนึกถึงคนรอบข้างด้วยครับ เพราะมี กม. มาตราเก่าแก่เกี่ยวกับการก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและจิตใจของผู้อื่น อยู่เช่นกันครับ ตำรวจนึกสนุก จะบังคับใช้ขึ้นมาก็โดนแน่ครับ ถึงจะแก่ กม. ก็เป็น กม. ครับ ขอให้โชคดีครับ
วันที่: 28 Oct 04 - 08:59

 ความคิดเห็นที่: 5 / 11 : 013569
โดย: rex 2.0
ลืมระบุไปครับ

ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์ หน้า B4 ธุรกิจ-ตลาด
วันที่: 28 Oct 04 - 09:03

 ความคิดเห็นที่: 6 / 11 : 013571
โดย: น้อท
ที่มาจาก http://www.trafficpolice.go.th

ขณะนี้กม.ไม่บังคับเกี่ยวกับการติดฟีล์มกรองแสง สามารถติดได้ ไม่จำกัดเปอร์เซนต์ของฟีล์มที่ติด แต่ห้ามติดที่แผ่นกระจกด้านหน้า (กระจกบังลมหน้า) เกินกว่า 25 % ของพื้นที่ แต่
ห้ามติดฟีล์มฉาบปรอท หรือฟีล์มสะท้อนแสง ซึ่งไปสะท้อนเข้าตาผู้ขับขี่รถอื่น เป็นความผิดฐาน เพิ่มสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าไปที่รถซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของผู้อื่น ตามพ.ร.บ.รถยนต์พ.ศ. 2522 มตรา 12 มีโทษตามมาตรา 60 ปรับไม่เกิน 2,000 บาท

พ.ต.อ.ยอดชาย ผู้สันติ ผกก.4 บก.ดพ. ช่วยราชการบก.จร. ฝ่ายปชส.บก.02 บก.จร.
วันที่: 28 Oct 04 - 09:05

 ความคิดเห็นที่: 7 / 11 : 013573
โดย: น้อท
ที่มาจาก http://www.trafficpolice.go.th

“ ฟีล์มกรองแสง ปัญหาอยู่ที่กรองแสงหรือสะท้อนแสง ”

ฟีล์มกรองแสง หรือวัสดุกันแสง ช่วยลดปริมาณความร้อนที่จะเข้าไปรถ ทำให้อุณหภูมิภายในห้องโดยสารของรถเย็นเร็วขึ้น ลดอันตราย ที่เกิดจากการแตกกระจายของเศษกระจกได้ดีเยี่ยม รวมทั้งช่วยลดความเสี่ยงของบุคคลภายในรถ (สตรี) ทั้งจากการถูกมอง หรือสังเกต จากภาย นอกโดยเหล่ามิจฉาชีพทั้งหลาย และเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่การจราจรติดขัด ยิ่งกว่านั้นเมื่อถึงคราวจำเป็น เร่งด่วน ยังได้อาศัยเป็นห้องแต่งตัวพอแก้ขัดไปได้ และรักษาอุปกรณ์ตกแต่งภายในรถ เช่น คอนโซลหน้า-หลังไม่ให้ซีดหรือแห้งกรอบ ช่วยประ หยัดพลังงานที่เกิดจากการทำงานของเครื่องปรับอากาศ นอกจากนี้ฟีล์ม กรองแสงยังช่วยลดรังสีอุลตราไวโอเล็ต และรังสียูวี ที่สำคัญยังช่วยป้องกันปัญหาทางสุขภาพอนามัย เช่น มะเร็งผิวหนัง ต้อนัยน์ตา และยังช่วยป้องกันรอยขีดข่วยที่อาจเกิดกับกระจกรถได้อีกด้วย

ทำไม! ทำไม! ตำรวจต้องมาวุ่นวายกับเรื่องฟีล์มกรองแสงอีก ทั้งๆที่ได้มีการยกเลิกการใช้ฟีล์มกรองแสงไปแล้วครั้งหนึ่งยังไม่เข็ดอีกหรือ ตำรวจเอากม.อะไรมาจับ เอาเหตุผลอะไรมาตอบสังคม ก่อนที่ท่านจะอ่านข้อความต่อไปนี้ ขอให้สูดลมหายใจลึกๆไว้ก่อนครับ

ฟีล์มกรองแสงโดยรวม มี 3 ชนิด คือ

ชนิดที่ 1 ฟีล์มกรองแสงทั่วไป เป็นชนิดไม่มีการเคลือบโลหะ ฟีล์มชนิดนี้มีคุณสมบัติในการลดแสงที่ส่องผ่านกระจก ไม่มีการสะท้อนแสงหรือมีน้อยมาก เพิ่มความเข้มของสีกระจก เนื้อฟีล์มจะบาง ไม่มีความเงามัน

ชนิดที่ 2 ฟีล์มกรองแสงชนิดเคลือบโลหะ มีการพัฒนาคุณสมบัติจากชนิดที่ 1 โดยการผสมโลหะหนัก เช่น ไอสารอลูมินั่ม นิเกิล ทองแดง หรือโลหะอัลลอยด์อื่นๆ ผิวฟีล์มจะมีสีเหลือบเป็นมันเงา สีจะแตกต่างกันตามประเภทของไอโลหะ เนื้อฟีล์มจะหนากว่าชนิดที่ 1 ลดการส่องผ่านของแสงได้มาก มีการสะท้อนแสงได้ดี ค่าการสะท้อนแสงมากน้อยขึ้นอยู่กับส่วนผสมของโลหะที่เคลือบบนผิวฟีล์ม

ชนิดที่ 3 ฟีล์มกรองแสงชนิดใช้กับกระจกอาคาร-สำนักงาน (เรียกกันทั่วไปว่า ฟีล์มฉาบปรอท ทั้งที่ไม่มีส่วนผสมของปรอทเลย แต่เรียกกันตามสีที่คล้ายสีของปรอท ) มีส่วนผสมของโลหะมากที่สุด สะท้อนแสงมากกว่า 50% ไม่เหมาะกับการนำมาติดกับกระจกรถอย่างยิ่ง เนื่องจากค่าของการสะท้อนแสงมีมาก ทำให้เข้าสะท้อนเข้าตาของผู้ขับขี่รถทั้งที่วิ่งสวนทางและตามหลัง เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นสิ่งต่างจากภายในรถของผู้ขับขี่รถเสียไป (ฟีล์มชนิดนี้สังเกตุได้ง่าย จะมีการสะท้อนแสงได้มาก จนบางครั้งถึงกับหวีผม หรือบีบสิวได้)

กม.ที่เกี่ยวข้องกับฟีล์มสะท้อนแสง (เฉพาะพ.ร.บ.จราจรทางบกฯ และพ.ร.บ.รถยนต์ฯ)

1. พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 8 ห้ามมิให้ผู้ใดนำรถที่ไม่อาจแลเห็นทางพอแก่ความปลอดภัยมาใช้ในทางเดินรถ เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้อธิบดีมีอำนาจออกระเบียบเกี่ยวกับใช้วัสดุกรองแสงกับรถที่นำมาใช้ในทางเดินรถได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
- ระเบียบกรมตำรวจ ว่าด้วย การใช้วัสดุกรองแสงกับรถที่นำ มาใช้ในทางเดินรถ พ.ศ. 2541 ลงวันที่ 24 ก.พ. 2541
- ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วย การใช้วัสดุกรองแสงกับรถที่นำมาใช้ในทางเดินรถ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 ลงวันที่ 24 ก.ย.2542
- ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วย การยกเลิกการใช้วัสดุกรองแสงกับรถที่นำมาใช้ในทางเดินรถ พ.ศ.2544 ลงวันที่ 1 มิ.ย.2544

2. พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 12 รถใดที่จดทะเบียนแล้ว หากปรากฏในภายหลังว่ารถนั้นมีส่วนควบหรือเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถไม่ครบ ถ้วนถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หรือเพิ่มสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของผู้อื่น ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถนั้นจนกว่าจะจัดให้มีครบถ้วนถูกต้องหรือเอาออกแล้ว

ก่อนที่จะมีการบังคับใช้ฟีล์มกรองแสงนั้น ได้มีการต่อต้าน ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างมาก ประกอบกับสถานการณ์ในขณะนั้น ไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้วัสดุกรองแสง กับรถที่นำมาใช้ในทางเดินรถ สมควรที่จะทำการศึกษาความเหมาะสมในเรื่องวัสดุกรองแสงติดรถยนต์ให้เป็นที่ชัดเจนเสียก่อน จึงให้ยกเลิกการใช้วัสดุกรองแสงกับรถที่นำมาใช้ในทางเดินรถ เมื่อปี พ.ศ.2544

ผลของการยกเลิกกม. ทำให้สามารถติดฟีล์มกรองแสงที่รถได้โดยเสรี เนื่องจากไม่มีกม.บังคับไว้ ประกอบกับได้มีการพัฒนาคุณสมบัติของฟีล์มจากชนิดที่ 1 เป็นชนิดที่ 2 โดยมีหลักสำคัญคือ การเคลือบโลหะลงบนแผ่นฟีล์ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดแสงหรือความร้อนที่จะผ่านเข้าไปภายในรถ ( Visible Light Transmission ) ซึ่งมีระดับค่าตั้งแต่ 8% - 66% และการสะท้อนแสงหรือความร้อน ( Visible Light Reflectance ) ซึ่งมีระดับค่าตั้งแต่ 5% - 43 % และเป็นที่นิยมของผู้ใช้รถอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ตามมา คือ ความแตกต่างกันระ –หว่างระดับต่ำสุด ( 5% ) และสูงสุดของค่าการสะท้อนแสง ( 43% ) ทำให้รถติดฟีล์มดังกล่าว มีความหลากหลายและแตกต่างกัน ทั้งรถที่มีการสะท้อนแสงน้อยสุดไปจนถึงมากสุด ประกอบกับมีผู้นำรถติดฟีล์มชนิดที่ 3 (สำหรับอาคารสำนักงาน) และนำออกมาใช้ในถนนเพิ่มขึ้น
ต่อมาในวันที่ 27 ส.ค.2547 ได้มีการร้องเรียนผ่านนายพูลทรัพย์ ปิยะอนันต์ ผู้ตรวจ การแผ่นดินของรัฐสภา ไปยังนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่ง ชาติ กรณีเริ่มมีรถยนต์ติดฟีล์มกันแดดแบบฉาบปรอทสะท้อนแสง ( ชนิดที่ 3 ) ซึ่งเมื่อถูกแสงแดดจะสะท้อนไปเข้าตาผู้ขับรถคันอื่นที่ขับตามมาหรือขับข้างๆ ทำให้ตาพร่า อันก่อให้เกิดอันตรายอย่างยิ่งจากอุบัติเหตุ อีกทั้งง่ายต่อการก่ออาชญากรรม เพราะฟีล์มชนิดดังกล่าวจะไม่เห็นคนข้างใน เนื่อง จากกันสายตาโดยสิ้นเชิง ซึ่งปัญหาอันอาจเกิดภัยอันตรายร้ายแรงดัง กล่าว โดยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้ประสพด้วยตัวเองมาแล้ว

จึงได้มีการสั่งการโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะหน่วย งานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหา ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรทั่วประ- เทศทำการประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือผู้ขับขี่รถยนต์ติดฟีล์มกันแดดแบบปรอทสะท้อนแสง ( ชนิดติดอาคารสำนักงาน ) งดใช้ฟีล์มประเภทดัง กล่าว หากพบมีผู้ฝ่าฝืนให้กวดขันจับกุมและดำเนินคดี ในความผิดฐาน เพิ่มสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าไปที่รถซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของผู้อื่นตาม มีอัตราโทษปรับ ไม่เกิน 2,000 บาท

ปรากฏว่าในการกวดขันจับกุมตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 12 นั้น เนื่องจากไม่ได้มีการกำหนดมาตรฐานหรือหลักเกณฑ์ของค่าการสะท้อนแสงที่อาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของผู้อื่นไว้ คงให้เป็นดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรผู้ปฏิบัติในการพิจารณา ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละปัจเจกบุคคล รวมทั้งเวลา ตลอดจนสภาพแวดล้อม รวมทั้งความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนระหว่างผู้ขับขี่รถที่ถูกตรวจจับกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในประเด็นการจับกุมความผิดฐาน ติดฟีล์ม กรองแสง ซึ่งได้มีการยกเลิกกม.ไปแล้ว กับความผิดฐาน เพิ่มสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าไปที่รถซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของผู้อื่น (สิ่งใดสิ่งหนึ่งในที่นี้ อาจหมายรวมถึงวัสดุอื่นใด เช่น ผ้าม่าน กระดาษ สติกเกอร์โฆษณาต่างๆ มู่ลี่กันแดด ฉากกั้น ฯลฯ )

สำหรับการกำหนดค่ามาตรฐานการสะท้อนแสงของฟีล์ม กรองแสงนั้น ผู้ประกอบการและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเป็นผู้ประสานให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้กำหนดมาตรฐาน เพื่อใช้กำหนดเป็นแนวทางในการปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไป

ดังนั้น เพื่อไม่ให้ผู้ใช้รถที่ติดฟีล์มกรองแสงไปแล้ว ได้รับความเดือดร้อนและเกิดความสับสนอันอาจนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งของสังคม ในขณะที่ยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานการสะท้อนแสงของฟีล์มกรองแสง ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของผู้อื่น สำหรับเป็นแนวทางในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร ในวันที่ 27 ก.ย.2547 จึงได้มีบันทึกสั่งการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ใช้มาตรการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือผู้ขับขี่และร้านค้าผู้ติดฟีล์มที่อาจเกิดอันตรายดังกล่าวไปพลางก่อน

อย่างไรก็ตาม รถที่ติดฟีล์มกันแดดแบบปรอทสะท้อนแสง ( ชนิดติดอาคาร-สำนักงาน ) ซึ่งเป็นชนิดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของผู้อื่นอย่างชัดเจน จะมีการกวดขันจับกุมอย่างเข้ม งวดต่อไป

ส่วนรถที่ติดฟีล์มกรองแสงชนิดที่ 1 หรือ ชนิดที่ 2 ไปแล้ว ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลอกออกในขณะนี้ สามารถใช้ต่อไปได้ จนกว่าจะมีการกำหนดค่ามาตรฐาน หรือมาตรการในการแก้ไขปัญหาก่อน

ปัญหาคือ รถที่กำลังจะติดฟีล์มกรองแสงใหม่ หรือรถใหม่ ยังคงสามารถจะติดฟีล์มได้ แต่ควรทำความเข้าใจในรายละเอียดของฟีล์มที่จะติด ไม่ว่าจะเป็นชนิด ประเภท คุณสมบัติ โครงสร้าง และสิ่งสำคัญที่สุดได้แก่ ค่าการสะท้อนแสง ซึ่งเป็นหน้าที่ของร้านค้าประดับยนต์ที่จะต้องชี้แจงให้ข้อแนะนำกับผู้บริโภคได้เข้าใจอย่างถูกต้อง รวมถึงการให้ร้านค้าผู้ประกอบการออกใบรับรองคุณสมบัติของฟีล์มที่ติด เพื่อไว้ตรวจ สอบในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการกวดขันของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรนั้น ยังอยู่บนพื้นฐานของดุลยพินิจที่กม.กำหนดไว้กว้างๆ อาจจะเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรผู้ปฏิบัติกับผู้ขับขี่รถบ้าง ดังนั้นเมื่อมีการตรวจจับและออกใบสั่ง หากยังไม่ยอมรับในดุลยพินิจของเจ้าข้าหน้าที่ตำรวจผู้จับกุม ข้อแนะนำคือ ขอให้นำใบสั่งพร้อมรถไปพบพนักงานสอบสวน สารวัตรจราจรหรือ รองผู้กำกับจราจร หรือหัวหน้าสถานีตำรวจ เพื่อตรวจสอบให้เกิดความถูกต้องและลดความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในที่สุด


โดย พ.ต.อ.ยอดชาย ผู้สันติ ผกก.4 บก.ดพ. ช่วยราขการ บก.จร.
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร บก.02
วันที่: 28 Oct 04 - 09:06

 ความคิดเห็นที่: 8 / 11 : 013589
โดย: A
ต้องจับร้านที่ขายสิครับคุณตำรวจ
วันที่: 28 Oct 04 - 10:23

 ความคิดเห็นที่: 9 / 11 : 013633
โดย: rex 2.0
ขอบคุณ คุณน้อท สำหรับข้อมูล อ่านกันเต็มอิ่มไปเลย
วันที่: 28 Oct 04 - 14:17

 ความคิดเห็นที่: 10 / 11 : 105234
โดย: นคร
ควรติดชนิดไหนดี
วันที่: 07 Aug 05 - 21:41

 ความคิดเห็นที่: 11 / 11 : 340654
โดย: คุณสายรุ้ง
ติดฟิล์มรถ
หากคุณรู้สึกว่า รถยนต์คันเก่งของคุณ กลายเป็นเตาอบ หรือห้องอบซาวน่า แล้วละก็ ติดฟิล์มเลยดีกว่า และหากต้องการติดฟิล์มรถยนต์แล้วละก็ โปรดนึกถึงเรา
เพราะนอกจากเราจะมีบริการติดฟิล์มกันความร้อนแล้ว เรายังมีบริการติดฟิล์มนิรภัยด้วย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากกระจกแตกอีกด้วย ในราคามิตรภาพ
สนใจติดต่อได้ที่ คุณสายรุ้ง โทร
ติดฟิล์มรถ
085-150-2642
02-728-6553
วันที่: 11 Apr 08 - 10:13