Close this window

ซื้อรถมือหนึ่งมาใหม่ต้องทำอย่างไรบ้าง ?
หลังจากผ่านขั้นตอนต่างๆจนสามารถซื้อรถยนต์มาได้หนึ่งคันแล้ว ผู้เป็นเจ้าของรถยนต์มักจะมีคำถามตามมาว่า "ต้องทำอะไรบ้างคะ ( ครับ ) ?" และยังมีเจ้าของรถยนต์ใหม่คันแรกของชีวิตอีกมาก ที่มักจะนำรถไปตกแต่งตามความคิดของตนเอง ทำให้เสียเงินเพิ่มขึ้นโดยใช่เหตุ หรือหลายครั้งที่พบว่านอกจากจะต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้ประสิทธิภาพและสมรรถนะของรถยนต์ ลดน้อยลงกว่ามาตรฐานจากโรงงาน ก่อนที่จะต้องจ่ายเงินเพิ่มเสียอีกด้วยซ้ำไป ดังนั้นเราลองมาดูกันว่าหากได้รถยนต์ใหม่ๆมาไว้ในครอบครองหนึ่งคันแล้ว เจ้าของรถยนต์ควรหรือไม่ควรทำอะไรกับรถยนต์คันนั้นบ้าง
เริ้มกันด้วยสิ่งที่ไม่ควรไปเสียเงิน ประการแรกที่ผู้เป็นเจ้าของรถยนต์มักจะถามกันเข้ามาก็คือ การนำรถยนต์ไปพ่นกันสนิมหรือทำการเคลือบสีรถยนต์คันใหม่ เรื่องนี้หากเจ้าของรถยนต์ทั้งหลายทำความเข้าใจตรงกันว่า รถยนต์ในยุคปัจจุบันถูกผลิตขึ้นมาด้วยกรรมวิธีที่ทันสมัย เหล็กที่นำมาทำเป็นโครงสร้างตัวถัง ก็ล้วนแต่เป็นเหล็กกัลวาไนซ์ที่แข็งแรงและเกิดสนิมได้ยาก
บวกกับขั้นตอนก่อนที่จะทำการพ่นสี ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหมดจะต้องนำตัวถังไปทำการป้องกันสนิมด้วยการชุบ ซึ่งจะทำให้สามารถป้องกันสนิมได้มากกว่าระบบพ่นในยุคเก่า รวมทั้งการชุบดังกล่าวนั้นยังมีขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยเหลือ เช่นมีการใช้กระแสไฟฟ้าแยกขั้วกัน เพื่อให้เกิดแรงผลักระหว่างขั้วทำให้ผิวงานโลหะสะอาด และปราศจากการเกาะของผงสนิมได้อย่างแน่นอนในขณะทำการชุบ
หลังจากนั้นจึงมีการชุบและพ่นสีกันสนิมตามมา ก่อนที่จะมีการพ่นสีรองพื้นแล้วตามด้วยสีจริง ซึ่งในแต่ละขั้นตอนยังมีการอบด้วยความร้อนอีกตามแต่วิธีการของแต่ละผู้ผลิต แต่พอที่จะสร้างความมั่นใจได้ว่า รถยนต์ยุคใหม่ทุกรุ่นทุกยี่ห้อในปัจจุบัน ไม่ว่าจะผลิตจากต่างประเทศหรือผลิตในประเทศไทย ล้วนมีขีดความสามารถในการป้องกันสนิมได้ไม่น้อยกว่า 7 ปีอยู่แล้ว และเมื่อคิดตามอัตราเฉลี่ยว่ารถยนต์แต่ละคัน จะอยู่กับเจ้าของที่เป็นผู้ครอบครองมือหนึ่งไม่เกิน 5 ปี คุณจะต้องไปเสียเงินเพิ่มเพื่อทำการ "ป้องกันสนิม" ทำไมกัน
ทางด้านของการเคลือบสีก็เช่นกัน กรรมวิธีการพ่นสีบวกกับคุณภาพของสีในปัจจุบันนี้ สามารถคงความเงางามได้นานเกินกว่า 5 ปี หรือหากดูแลรักษาอย่างดีถูกต้อง ความเงางามจะคงอยู่คู่กับรถไม่น้อยกว่า 7 ปี เจ้าของรถก็ไม่ควรที่จะต้องไปเสียเงินค่าเคลือบสีอีกต่อไป ทั้งนี้ยังไม่ต้องคำนึงถึงปัญหาการซ่อมสีเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ที่มักจะพบว่าสีที่พ่นซ่อมไปใหม่กับสีเดิมที่ผ่านการเคลือบด้วยกรรมวิธีบางประการไม่สามารถกลืนเข้าด้วยกันได้ ทำให้เกิดรอยด่างจางๆขึ้นมาบริเวณรอยต่อระหว่างสีที่ซ่อมกับสีเดิมของรถ
การนำรถยนต์ใหม่ๆไปเปลี่ยนยางเปลี่ยนล้อก็เป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมมาก
แต่ก่อนที่จะนำรถไปเปลี่ยนยางและล้อ เจ้าของรถต้องเรียนรู้ถึงประสิทธิภาพที่จะได้มาและเสียไปจากการเปลี่ยนยางนั้นๆด้วยนอกเหนือไปจากเสียเงินที่ต้องจ่ายเพิ่ม เพราะหลายครั้งที่เจ้าของรถสู้อุตส่าห์จ่ายเงินเพิ่มนับหมื่นบาทเพื่อทำการเปลี่ยนยางและล้อ แต่พบว่ารถไม่สามารถเลี้ยวได้เต็มที่เหมือนเดิม หรือมีอาการยางครูดกับตัวถังในบางจังหวะของการขับขี่
อุปกรณ์เสริมเพิ่มเติมบางอย่างก็เป็นเรื่องที่ควรระวัง เพราะบางอย่างเมื่อนำมาติดตั้งหรือใช้งาน จะทำให้หมดสิทธิในการรับประกันจากผู้ผลิต ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการรับประกันความผิดพลาดจากการผลิตอยู่ที่ระดับสองปีหรือสามหมื่นกิโลเมตร ก่อนการติดตั้งจึงควรสอบถามจากผู้จำหน่ายให้เรียบร้อย เช่นอุปกรณ์ประเภทประหยัดน้ำมันหรืออุปกรณ์เพิ่มพลังทั้งหลายที่นิยมออกมาจำหน่ายกันมากในช่วงน้ำมันมีราคาสูงขึ้น
ส่วนเรื่องของเครื่องประดับตกแต่งบางอย่างก็ต้องดูก่อนจ่ายเงินเช่น ผ้าคลุมแผงหน้าปัดหน้ารถ หรือผ้าคลุมเบาะนั่ง เพราะรถยนต์ยุคใหม่ส่วนใหญ่จะมีถุงลมนิรภัยติดตั้งมาเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ผ้าคลุมหน้าปัดอาจจะไปกีดขวางการทำงานของถุงลมนิรภัย ส่วนผ้าหุ้มเบาะนั้นหากรถยนต์ของท่านมีถุงลมนิรภัยชนิดพองออกมาจากข้างพนักพิง ผ้าคลุมเบาะก็จะไปหุ้มบังไม่ให้ถุงลมนิรภัยพองออกมาช่วยเหลือท่านเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
กรอบป้ายทะเบียนและหลอดไฟก็เป็นอุปกรณ์ที่หลายครั้งนอกจากจะไม่ช่วยอะไรได้แล้ว ยังเป็นตัวการทำให้ผู้ขับขี่ต้องเสียเงินอีกด้วย เช่นกรอบป้ายทะเบียนที่ขนาดและแบบไม่มาตรฐาน เมื่อจะเอาป้ายทะเบียนใส่ลงไปต้องตัดบางส่วนของป้ายทะเบียนเสียก่อน หรือกรอบป้ายทะเบียนที่มีส่วนบดบังสาระสำคัญของป้ายทะเบียนเช่น กรอบที่มีขอบหนาจนบังชื่อจังหวัดของรถ กรอบอย่างนี้หากเจ้าหน้าที่กวดขันขึ้นมาผู้ขับขี่ก็จะมีโทษตามกฎหมาย
หลอดไฟสีต่างๆก็เป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงในอันที่จะนำมาติดตั้งกับรถ เพราะพระราชบัญญัติจราจรทางบกกำหนดสีของไฟตำแหน่งต่างๆเอาไว้ชัดเจน จึงควรศึกษาดูก่อนจะติดตั้ง ในรายที่ผู้ขับขี่นำหลอดไฟที่มีแสงสว่างสูงกว่ามาตรฐานมาติดตั้งก็เป็นเรื่องอันตราย เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ต้องดูถึงแรงต้านกระแสไฟในหลอดนั้นๆด้วย หากหลอดที่นำมาติดตั้งใหม่มีแรงต้านกระแสไฟสูงหรือมีแรงเทียนที่ให้ความสว่างมากขึ้น จะทำให้สายไฟมีความร้อนสูงขึ้น ฟิวส์อาจจะขาดหรือทำให้สายไฟร้อนจนลุกไหม้ติดไฟขึ้นมาได้ หากฟิวส์ไม่ตัดวงจรไฟไปเสียก่อน
สรุปข้อแนะนำสำหรับเจ้าของรถยนต์ใหม่ทุกท่านคือ จงใช้รถยนต์ตามสภาพมาตรฐานไประยะหนึ่ง จนพบว่าไม่มีปัญหาที่กเดจากการผลิตหรือประกอบรถยนต์ที่ผิดพลาดแล้วก่อนที่จะนำรถไปติดตั้งสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพิ่มเติม นอกเหนือไปจากการติดตั้งฟิล์มกรองแสงหรือระบบป้องกันขโมยที่ผ่านการรับรองมาอย่างถูกต้อง ทั้งตัวอุปกรณ์และวิธีการติดตั้งที่ถูกต้องแล้วเท่านั้น และทุกครั้งก่อนติดตั้งอุปกรณ์ใดๆเข้าไป ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่ผิดกฏหมายและไม่ผิดกฎว่าด้วยความปลอดภัยและการรับประกันจากผู้จำหน่ายรถยนต์ สำคัญที่สุดสำหรับเจ้าของรถยนต์มือใหม่คือ ต้องไม่คิดถึงการจดทะเบียนเพื่อให้เสียภาษีประจำปีน้อยลง จนทำให้รถยนต์คันใหม่ของท่านกลายเป็นรถยนต์ผิดกฎหมาย หรือไม่สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ของการซื้อมาใช้งานตั้งแต่แรกครับ



By: นายพัฒนเดช อาสาสรรพกิจ
คัดลอกมาจาก : http://www.asasappakij.com/mcontents/marticle.php?headtitle=mcontents&id=79937
โดย: เต่าฟ้า   วันที่: 1 Dec 2004 - 09:20


 ความคิดเห็นที่: 1 / 3 : 020395
โดย: buggi
ขอบคุณมากๆๆค่ะ
วันที่: 01 Dec 04 - 12:41

 ความคิดเห็นที่: 2 / 3 : 020456
โดย: AAA
Great article
วันที่: 01 Dec 04 - 22:32

 ความคิดเห็นที่: 3 / 3 : 021017
โดย: เจิมศักดิ์.....( อิอิ...ตูเองแหละ )
อาววว....ปายยยย...เจิมด้วยยยย
วันที่: 04 Dec 04 - 09:52