Close this window

จับพวงมาลัยให้ถูกต้อง
จับพวงมาลัยให้ถูกต้อง
พวงมาลัย อุปกรณ์หลักในการบังคับทิศทางของรถ การจับพวงมาลัยอย่างถูกวิธี และถูกตำแหน่ง จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการเพิ่มความปลอดภัย
อย่าเพิ่งคิดว่าเป็นเรื่องพื้น ๆ ที่รู้อยู่แล้ว แค่จับพวงมาลัยไม่เห็นมีอะไรซับซ้อน จับตามวิธีและตำแหน่งที่ตนเองถนัดก็พอ ทั้งที่ความจริงแล้ว การจับพวงมาลัยตามถนัด อาจไม่ใช่การจับที่ถูกต้องตามหลักการด้านความปลอดภัยในการขับขี่รถยนต์ก็เป็นได้
โดย: ป.เป็ด   วันที่: 15 May 2005 - 03:55


 ความคิดเห็นที่: 1 / 4 : 074991
โดย: ป.เป็ด
การจับพวงมาลัยผิดตำแหน่ง
ผู้ขับรถคนไทยส่วนใหญ่ มักไม่เห็นความสำคัญของการจับพวงมาลัย จึงมีการปฏิบัติแบบผิด ๆ ต่อเนื่องกันมา โดยมีสาเหตุจาก
- ขาดการฝึกฝนอย่างถูกวิธี ทั้งจากโรงเรียนสอนขับรถยนต์ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง
- เน้นความสบายและผ่อนคลายเป็นหลัก
- คิดว่าจับพวงมาลัยแบบไหน ก็ไม่เห็นเกิดอุบัติเหตุ
การจับพวงมาลัยผิดตำแหน่งมีหลากหลายรูปแบบ ที่พบบ่อย คือ
- จับด้านบนของพวงมาลัยตำแหน่ง 12 นาฬิกา
- วางมือทั้ง 2 ข้างไว้บนตัก แล้วจับพวงมาลัยที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา
- สอดแขนทั้ง 2 ข้างเข้าไปในวงพวงมาลัย ข้อมือพาดอยู่แถวก้าน วางมือไว้บนคอพวงมาลัย
- จับที่ก้านพวงมาลัยด้านซ้าย-ขวา
- จับด้วยมือขวาข้างเดียว ข้อศอกขวาท้าวขอบหน้าต่าง หรือที่ท้าวแขนบนบานประตู
- จับด้วยมือซ้ายข้างเดียว ข้อศอกซ้ายพาดอยู่บนที่ท้าวแขน

ที่ถูกต้อง 3 และ9 หรือ 2 และ10
ตำแหน่งการจับพวงมาลัยที่ถูกต้อง เมื่อเปรียบเทียบกับตำแหน่งของตัวเลขบนหน้าปัดนาฬิกา ก็จะเข้าใจง่ายขึ้น เพราะเป็นทรงกลมเหมือนกัน

มือขวาควรจับวงพวงมาลัยที่ตำแหน่ง 3 นาฬิกา และมือซ้ายจับที่ตำแหน่ง 9 นาฬิกา สังเกตว่ามือทั้ง 2 ข้างอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกันที่ขนานกับพื้น อยู่บริเวณกึ่งกลางวงพวงมาลัย จึงสามารถหมุนพวงมาลัยได้อย่างแม่นยำ และฉับไว ทั้งหมุนไปทางซ้ายหรือขวา บางคนอาจจับสูงขึ้นมาอีกนิด แต่ไม่ควรเกินตำแหน่งมือขวาที่ 2 นาฬิกา มือซ้ายที่ 10 นาฬิกา โดยรวมแล้ว แนะนำให้จับตำแหน่ง 3 – 9 นาฬิกา จะเหมาะสมกว่า
ถ้าสังเกตสักนิดจะพบว่า พวงมาลัยส่วนใหญ่จะผลิตมาเอื้อต่อการจับที่ตำแหน่ง 3-9 นาฬิกา โดยมีหลุมตื้น ๆ หรือเป็นร่องตื้น ๆ บริเวณปลายก้านที่ต่อกับวงพวงมาลัย เพื่อให้วางนิ้วโป้งได้อย่างพอเหมาะ
มีแอร์แบ็กยิ่งต้องระวัง
ในกรณีที่พวงมาลัยมีแอร์แบ็ก ควรจับพวงมาลัยที่ตำแหน่ง 3-9 นาฬิกา เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วแอร์แบ็กพองตัว แขนทั้ง 2 ข้างจะได้สะบัดออกด้านข้าง หลักทางให้แอร์แบ็กรองรับร่างกายช่วงบนได้ แต่ถ้าจับพวงมาลัยที่ตำแหน่ง 2 – 10 นาฬิกา แขนทั้ง 2 ข้างอาจจะสะบัดเฉียงขึ้น ขวางการพองตัวของแอร์แบ็กได้

พิสูจน์ง่าย ๆ ด้วยตนเอง
ถ้าใครคิดว่าจับพวงมาลัยแบบไหนก็หมุนได้เหมือนกัน ทดลองง่าย ๆ ด้วยการจับพวงมาลัยในตำแหน่งที่ถูกต้องแล้วหมุนไปมา หรือจะหาที่โล่ง ๆ และปลอดภัยเพื่อทดลองขับก็ได้ เปรียบเทียบการจับพวงมาลัยแบบผิด ๆ

ถ้าไม่เข้าข้างตัวเองเกินไปก็จะพบว่า การจับพวงมาลัยในตำแหน่งที่ถูกต้อง จะทำให้หมุนได้อย่างฉับไว รวมทั้งควบคุมน้ำหนัก และทิศทางได้แม่นยำกว่า

จับ 2 มือเมื่อล้อหมุน
สำหรับการขับรถยนต์ทางเรียบในทุกสถานการณ์ ควรใช้นิ้วโป้งเกี่ยวเพิ่มความกระชับด้วยเสมอ จะเกี่ยวลึกหรือเกี่ยวไว้เล็กน้อยก็ยังดี (หากขับบนทางวิบาก ไม่ต้องใช้นิ้วโป้งเกี่ยว เพราะพวงมาลัยจะสะบัดบ่อย) ส่วนนิ้วที่เหลือก็กำให้แน่นพอประมาณ ไม่ต้องแน่นจนเกร็ง แต่ก็ต้องไม่หลวมเกินไป และควรจับพวงมาลัยในตำแหน่งที่ถูกต้องด้วยมือทั้ง 2 ข้างตลอดเวลาที่ล้อหมุน

เมื่อขับทางตรงและโล่ง อย่าวางใจด้วยการขับมือเดียวหรือจับพวงมาลัยผิดตำแหน่ง เพราะยิ่งใช้ความเร็วสูงก็ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวัง และเตรียมพร้อมอยู่เสมอ เพราะถนนข้างหน้าอาจมีหลุมบ่อหรือสิ่งกีดขวางตกอยู่ ถ้าเป็นเกียร์ธรรมดา เมื่อเปลี่ยนเกียร์แล้ว มือซ้ายควรกลับมาจับพวงมาลัยไม่วางแช่ไว้บนหัวเกียร์

ตำแหน่งของเบาะก็เกี่ยวข้อง
ความฉับไว และแม่นยำในการหมุนพวงมาลัย นอกจากจะเกี่ยวข้องกับตำแหน่งในการจับพวงมาลัยแล้ว การปรับเบาะ และพนักพิงก็เป็นส่วนสำคัญด้วยเช่นกัน โดยเมื่อจับพวงมาลัยตามตำแหน่งที่ถูกต้องแล้ว ข้อศอกจะต้องงอเล็กน้อย ไม่ตึงจนต้องเหยียดแขนสุดหรือหย่อนจนข้อศอกแนบลำตัว

การตรวจสอบระยะที่เหมาะสมของเบาะ และพนักพิงทำได้ไม่ยาก แค่เหยียดแขนให้ตึงแล้วคว่ำลงบนสุดของพวงมาลัยที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา ข้อมือต้องอยู่บนพวงมาลัยพอดี หรือเยื้องเลยจากข้อมือไปบริเวณอุ้งมือได้เล็กน้อย แต่ต้องไม่เลยไปจนถึงฝ่ามือ และแผ่นหลังจะต้องแนบกับพนักพิงด้วย
วันที่: 15 May 05 - 03:59

 ความคิดเห็นที่: 2 / 4 : 075106
โดย: เต่าฟ้า
วันที่: 15 May 05 - 13:23

 ความคิดเห็นที่: 3 / 4 : 075140
โดย: The_P๐๐M
จริงครับ ที่ผมรอดมาได้โดยหัวไม่กระแทกพวงมาลัยและแขนไม่หักก็เพราะตอนที่รถยางแตกเสียหลักแล้วชนเสาไฟ บังเอิญผมตกใจและจับพวงมาลัยแบบ9-3โดยอัตโนมัติครับ มันช่วยให้เรามีแรงยันไม่ให้ตัวเราเข้าไปกระแทกกับพวงมาลัยได้ครับ และที่สำคัญอีกอย่างคือการปรับเบาะครับ สำคัญมากๆ อยากเตือนผู้ที่ขับรถโดยเลื่อนเบาะให้ตัวติดพวงมาลัยมากๆน่ะไม่ดีเลยครับ เพราะเราจะไม่มีแรงยึดตัวเองเวลาถูกชนจากด้านหน้าจะทำให้หน้ากระแทกพวงมาลัยได้ง่ายๆ แล้วก็อย่าปรับเบาะให้ห่างพวงมาลัยจนเกินไปครับ ต้องปรับให้พอดีที่สุด และวิธีทดสอบว่าพอดีไหมของผมก็คือ ปรับเบาะแล้วใช้สองมือจับพวงมาลัยแบบ9-3แล้วให้ข้อศอกงอแค่เพียงเล็กน้อย(มันจะรู้สึกได้เองว่าระยะนี้แหละที่เราสามารถมีแรงยันกับพวงมาลัยได้ดีที่สุดเมื่อเกิดการกระแทกอย่างแรง) นี่เป็นวิธีในแบบของผมนะก็ไม่รู้จะถูกหลักการณ์มั้ย แต่เหตุการณ์ครั้งที่แล้วมันสอนผมมาครับ และวิธีที่ผมทำก็เป็นหนึ่งในส่วนที่ช่วยให้ตัวผมไม่เป็นอะไรเลยหลังการชนอย่างรุนแรง รวมถึงคุณภาพรถของมาสด้าก็ดีนะ(แต่ที่สำคัญคือพระคุ้มครองครับ)
วันที่: 15 May 05 - 14:33

 ความคิดเห็นที่: 4 / 4 : 075175
โดย: + F a n G +
เยี่ยมครับ นายพูม ส่วนผม .......... ขอจับแบบเดิม ดีก่า จับแบบที่บอกมาไม่ถนัด ....
วันที่: 15 May 05 - 17:27