Close this window

ระบบเทอร์โบชาทเจอร์
ระบบเทอร์โบชาทเจอร์ทำงานอย่างไร
ท่านคงได้ยินคำว่า "เทอร์โบ" อยู่ทั่วไป โดยเฉพาะความเข้าใจที่ว่า รถที่ติดตั้งเทอร์โบแล้วจะต้องแรงและเร็วเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงมีมากกว่านั้น ลองไปค้นหาความจริงกันดูซิ
โดย: ป.เป็ด   วันที่: 15 May 2005 - 04:04


 ความคิดเห็นที่: 1 / 15 : 074993
โดย: ป.เป็ด
ทั้งหมดอยู่ที่การสันดาปหรือเผาไหม้ที่ดีกว่า

ก่อนที่เราจะรู้ว่าเทอร์โบมีความเกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์อย่างไร เราจำเป็นต้องรู้จักพื้นฐานของการสันดาปภายในก่อน ก่อนการเกิดสันดาปภายในของเครื่องยนต์ เครื่องยนต์จะดูดอากาศและมีการฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปในห้องเผาไหม้เพื่อแปลงเป็นกำลัง กำลังของเครื่องยนต์ที่ได้ก็มาจากส่วนผสมของอากาศและน้ำมันที่ถูกจุดระเบิด หลังจากนั้นเครื่องยนต์ก็จะขับไอเสียที่เหลือจากการเผาไหม้ออกเป็นควันไอเสียออกจากเครื่องยนต์
วันที่: 15 May 05 - 04:05

 ความคิดเห็นที่: 2 / 15 : 074994
โดย: ป.เป็ด
เทอร์โบมีหน้าที่ทำให้ส่วนผสมของอากาศและน้ำมันเกิดการสันดาปที่รุนแรงขึ้นโดยการเพิ่มอากาศเข้าไปในห้องเผาไหม้ ซึ่งในการกลับกันจะก่อให้เกิดกำลังและแรงบิดที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อลูกสูบถูกผลักลงแรงขึ้นอันเนื่องมาจากการจุดระเบิดที่รุนแรงขึ้น เพราะเทอร์โบสามารถเพิ่มปริมาณอากาศให้มากขึ้น โดยการอัดอากาศให้หนาแน่นขึ้นส่งผ่านเข้าไปในเครื่องยนต์และเรื่องก็เกิดจากที่ตรงนี้
วันที่: 15 May 05 - 04:06

 ความคิดเห็นที่: 3 / 15 : 074995
โดย: ป.เป็ด
ตำนานของใบพัด 2 ใบ

เทอร์โบก็เปรียบเสมือนเครื่องอัดลมแบบธรรมดา โดยท่อไอเสียที่ถูกขับออกจากห้องเผาไหม้ แทนที่จะถูกปล่อยออกทางท่อไอเสีย ก็จะถูกนำไปขับใบพัดไอเสียให้หมุน ใบพัดไอเสียนี้จะเชื่อมติดกับเพลาซึ่งมีใบพัดไอดีอยู่อีกข้างหนึ่ง เมื่อใบพัดไอเสียหมุนเร็วขึ้นเรื่อยๆก็จะยังผลให้ใบพัดไอดีหมุนตามเร็วขึ้นเท่านั้น การหมุนของใบพัดไอดีจะดูดอากาศผ่านไส้กรองอากาศและอัดอากาศให้หนาแน่นขึ้น ก่อนอัดเข้าห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ในเครื่องยนต์เบนซินอากาศที่ถูกอัดจากเทอร์โบก่อนเข้าเครื่องยนต์ จึงจำเป็นต้องทำให้อากาศเย็นตัวลงก่อน เพื่อป้องกันการจุดระเบิดก่อนเข้าห้องเผาไหม้ ดังนั้นอินเตอร์คูลเล่อร์จึงเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นในเครื่องยนต์ โดยอินเตอร์คูลเล่อร์จะมีลักษณะเหมือนรังผึ้งหม้อน้ำ แต่ใช้อากาศภายนอกเป็นตัวช่วยถ่ายเทความร้อนของอากาศภายในหลอดที่ออกจากเทอร์โบ
วันที่: 15 May 05 - 04:07

 ความคิดเห็นที่: 4 / 15 : 074997
โดย: ป.เป็ด
ในส่วนของเครื่องยนต์ดีเซล จะมีทั้งระบบเทอร์โบ และเทอร์โบอินเตอร์คูลเล่อร์ ทั้งนี้เนื่องจากชิ้นส่วนเครื่องยนต์ดีเซลมีความทนทานและแข็งแรงกว่าเครื่องยนต์เบนซินมาก และเครื่องยนต์ดีเซลใช้ระบบการเผาไหม้ด้วยช่วงจังหวะการอัดของลูกสูบ ซึ่งต่างจากการใช้หัวเทียนเป็นตัวจุดระเบิดในเครื่องยนต์เบนซิน ดังนั้นเครื่องยนต์ดีเซลจึงไม่จำเป็นต้องใช้อินเตอร์คูลเล่อร์ ยกเว้นผู้ผลิตเครื่องยนต์ต้องการเพิ่มกำลังและแรงบิดเครื่องยนต์ให้มากกว่าเดิม ก็สามารถติดตั้งระบบอินเตอร์คูลเล่อร์เข้าไปเพิ่ม ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องเพิ่มบูสต์ หรือแรงอัดของเทอร์โบให้สูงขึ้นพร้อมกับเพิ่มน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้น ก็จะได้การจุดระเบิดที่รุนแรงขึ้น เป็นการเพิ่มแรงม้าและแรงบิด ทั้งนี้ชิ้นส่วนภายในจะต้องมีความแข็งแรงตามไปด้วย นอกจากนี้ผู้ผลิตเครื่องยนต์ก็จะลดกำลังอัดของลูกสูบตามไปด้วย เมื่อมีการเพิ่มกำลังอัดจากเทอร์โบเข้าเครื่องยนต์ ด้วยเหตุนี้ผู้ผลิตเครื่องยนต์จะมีเครื่องยนต์ให้เลือก ทั้งแบบเทอร์โบธรรมดาและเทอร์โบอินเตอร์คูลเล่อร์ซึ่งมีกำลังสูงกว่า ในปัจจุบันเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเกิน 85 KW ขึ้นไปจำเป็นต้องมีอินเตอร์คูลเล่อร์ตามมาตรฐาน EURO 3 มิเช่นนั้นค่าไนโตรเจนออกไซด์จะสูงเกินพิกัด

ถึงแม้ท่านจะเห็นว่าการทำงานของเทอร์โบจะดูง่าย แต่ภายในเทอร์โบจะมีความซับซ้อน เนื่องจากรอบการหมุนของใบพัดและเพลาจะสูงกว่า 100,000 รอบ/นาที จนถึง 200,000 รอบ/นาทีในเทอร์โบเล็ก ดังนั้นชิ้นส่วนแต่ละชิ้นจะต้องมีความเที่ยงตรง เทอร์โบและเครื่องยนต์จะต้องได้รับการออกแบบมาให้เหมาะสมกันมิเช่นนั้นเครื่องยนต์จะไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วยเหตุนี้ การติดตั้งเทอร์โบที่ถูกต้อง การใช้งานและการบำรุงรักษา ตามข้อกำหนดจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเครื่องยนต์เทอร์โบ
วันที่: 15 May 05 - 04:08

 ความคิดเห็นที่: 5 / 15 : 074998
โดย: ป.เป็ด
ส่วนประกอบหลักของเทอร์โบ

เทอร์โบประกอบด้วยด้านที่ถูกขับไอเสีย เรียกว่า "เทอร์ไบน์" และด้านตรงข้ามที่ดูดและอัดอากาศเรียกว่า "คอมเพรสเซอร์" ซึ่งถูกต่อกันโดยเพลา โดยมีโข่งหรือเสื้อไอเสียและไอดีครอบอยู่ ตัวเพลาจะถูกรองรับโดย "เสื้อกลาง" หากไม่รวมโข่งหรือเสื้อไอดีไอเสีย เราจะเรียก "ไส้กลางเทอร์โบ" ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่ทำงาน นอกจากนี้ภายในเทอร์โบจะมีชิ้นส่วนย่อยอีกหลายชิ้นอาทิเช่น เสื้อกลางเทอร์โบ (Bearing Housing) แหวนล็อคบู๊ช (Retaining Ring) บู๊ช (Journal Bearing) ปลอกกันรุน (Thrust Collar) กันรุน (Thrust Bearing) แหวนไอดี (Piston Ring Compressor Side) เพลทกันน้ำมัน (Back Plate) แกนใบพัดไอเสีย (Turbine Shaft & Wheel) แหวนไอเสีย (Piston Ring Turbine) แผ่นกันความร้อน (Heatshield) ใบพัดไอดี (Compressor Wheel) น็อตล็อคใบพัดไอดี (Lock Nut)

ไส้กลางเทอร์โบอาจเรียกเป็น Core Assy หรือ Cartridge หรือ CHRA (Center Housing Rotating Assembly) โข่งไอเสีย (Turbine Housing) โข่งไอดี (Compressor Housing)
วันที่: 15 May 05 - 04:10

 ความคิดเห็นที่: 6 / 15 : 074999
โดย: ป.เป็ด
ส่วนเทอร์ไบน์ ประกอบด้วยใบพัดไอเสียซึ่งได้มาจากการหล่อโลหะ แผ่นกันความร้อนและโข่งไอเสียเมื่อไอเสียจากเครื่องยนต์ไหลผ่านโข่งไอเสีย จะเกิดแรงดันขับให้ใบพัดทำงาน ในขณะเดียวกันใบพัดไอเสียก็จะถ่ายไอเสียออกจากเทอร์โบต่อไปยังท่อไอเสีย ในขณะที่เพลาที่เชื่อมติดกับใบพัดไอเสีย ก็จะช่วยหมุนใบพัดไอดีซึ่งอยู่ตรงข้ามอีกด้านหนึ่ง

ส่วนคอมเพรสเซอร์ประกอบด้วยใบพัดไอดีซึ่งได้มาจากการหล่อโลหะเช่นกัน แผ่นเพลทและโข่งไอดีเมื่อใบพัดไอดีหมุน ใบพัดจะดูดอากาศเข้ามาทางท่อดูดและจะถูกอัดให้หนาแน่นภายในโข่งไอดีโดยใบพัด และถูกส่งต่อเข้าเครื่องยนต์ทางท่ออัดอากาศ ในส่วนของไส้กลางเทอร์โบจะประกอบด้วยเสื้อกลางจะรองรับแกนเพลาของใบพัดพร้อมระบบบู๊ชและกันรุนที่รองรับการหมุนของเพลาเทอร์โบกว่า 100000 รอบ/นาที รวมถึงระบบแหวนกันน้ำมันทั้งทางด้านไอดีและไอเสีย โดยแหวนนี้จะป้องกันไม่ให้น้ำมันหล่อลื่นไหลออก ขณะเดียวกันก็ป้องกันไอเสียและอากาศมิให้ผ่านเข้ามาภายในเทอร์โบ
วันที่: 15 May 05 - 04:10

 ความคิดเห็นที่: 7 / 15 : 075000
โดย: ป.เป็ด
ระบบควบคุมปริมาณแรงดันไอเสีย ซึ่งอาจเป็นแบบวาล์วเปิด/ปิด (swing value) หรือประตูไอเสีย (wastegate) ช่วยในการควบคุมรอบใบพัดไอเสียรวมถึงแรงดันเทอร์โบด้านคอมเพรสเซอร์ (บู๊สต์) โดยการคายไอเสียบางส่วนเพื่อลดแรงดันของไอเสียในโข่งไอเสีย พร้อมทั้งลดแรงดันอากาศที่อัดเข้าเครื่องยนต์ วาล์วหรือประตูไอเสียจะติดตั้งอยู่กับโข่งไอเสีย โดยจะถูกควบคุมจากระบบควบคุม (Actuator) ซึ่งมีแผ่นไดอะเฟรมและสปริงบรรจุอยู่ในกระปุก เมื่อดันถึงจุดที่กำหนดก้านที่ยึดประตูไอเสียจะขยับตัวเพื่อเปิดประตูไอเสียให้แรงดันไอเสียลดลง
วันที่: 15 May 05 - 04:11

 ความคิดเห็นที่: 8 / 15 : 075001
โดย: ป.เป็ด
การแก้ไขดัดแปลงกระปุกและก้านเปิดประตูไอเสียโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จะส่งผลถึงเครื่องยนต์โดยตรงหากประตูไอเสียไม่เปิดเนื่องจากแผ่นไดอะเฟรมหรือสปริงชำรุดหรือการดัดก้านกระทุ้ง จะทำให้เทอร์โบหมุนรอบสูงเกินปกติจนเทอร์โบเสียหายหรือเครื่องยนต์ร้อนและเสียหาย เนื่องจากแรงอัดเข้าเครื่องยนต์สูงเกินไป ด้วยเหตุนี้เทอร์โบที่จะใช้กับเครื่องยนต์แต่ละขนาดและกำลังจะต้องได้รับการออกแบบมาให้เหมาะสมตั้งแต่ขนาดของใบพัดไอดี ใบพัดไอเสีย ขนาดโข่ง เพื่อคำนวณปริมาณลมและแรงดันที่เหมาะสมกับเครื่องยนต์
วันที่: 15 May 05 - 04:12

 ความคิดเห็นที่: 9 / 15 : 075002
โดย: ป.เป็ด
ทำไมถึงต้องติดตั้งเทอร์โบ

เครื่องยนต์เทอร์โบดีกว่าเครื่องยนต์ที่ไม่มีเทอร์โบเพราะ


'ระบบเทอร์โบช่วยให้เครื่องยนต์เล็กกว่ามีกำลังและแรงบิดมากพอกับเครื่องยนต์ที่ใหญ่กว่า กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเครื่องยนต์ที่ติดตั้งเทอร์โบสามารถเพิ่มกำลังและแรงบิดของเครื่องยนต์ได้ประมาณ 40 เปอร์เซนต์เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์เดิมที่ไม่มีเทอร์โบ
'ระบบเทอร์โบช่วยลดมลภาวะทางอากาศจากเครื่องยนต์เนื่องจากเทอร์โบสามารถเพิ่มปริมาณลมเข้าเครื่องยนต์ได้มากกว่า ดังนั้นการเผาไหม้จะดีกว่าและสะอาดกว่า
'ระบบเทอร์โบช่วยประหยัดน้ำมันได้มากกว่าเมื่อเครื่องยนต์ต้องทำงานหนักขึ้น เนื่องจากน้ำหนักบรรทุกของรถมากขึ้นหรือการขับรถที่ต้องการเร่งแซงอยู่เสมอ เทอร์โบช่วยเพิ่มกำลังและแรงบิดของเครื่องยนต์ ทำให้เครื่องยนต์สามารถใช้งานในช่วงที่รอบเครื่องยนต์ต่ำกว่า
วันที่: 15 May 05 - 04:15

 ความคิดเห็นที่: 10 / 15 : 075003
โดย: ป.เป็ด
ข้อแนะนำในการใช้เทอร์โบและการบำรุงรักษาที่ถูกต้อง

การดูแลและการบำรุงรักษาไส้กรองอากาศและน้ำมันหล่อลื่นเป็นส่วนสำคัญที่สุดต่ออายุการใช้งานและประสิทธิภาพของเทอร์โบ เพราะเทอร์โบส่วนใหญ่ที่เสียหายมักจะเกิดขึ้นจากสาเหตุของน้ำมันหล่อลื่นเช่น น้ำมันไม่พอ น้ำมันมาช้าหรือมาไม่ทัน รวมถึงสิ่งสกปรกในน้ำมันเป็นต้น หรือเกิดจากสิ่งแปลกปลอมภายในที่ผ่านเข้ามาทางด้านไอดีของเทอร์โบหรือชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์เข้าไปทางด้านไอเสียของเทอร์โบ
วันที่: 15 May 05 - 04:16

 ความคิดเห็นที่: 11 / 15 : 075004
โดย: ป.เป็ด
เพื่อเป็นการยืดอายุการใช้งานของเทอร์โบให้ยาวนานที่สุด ท่านควรให้ความสนใจต่อข้อกำหนดเหล่านี้

ห้ามเร่งเครื่องโดยทันที หลังการสตาร์ทเครื่องยนต์ให้รออย่างน้อย 30 วินาที เพื่อให้แรงดันน้ำมันหล่อลื่นปกติ และมีน้ำมันผ่านเข้าไปเลี้ยงเทอร์โบเสียก่อน
เหตุผล: หากเร่งเครื่องโดยทันทีหลังการสตาร์ทเครื่องยนต์จะทำให้แกนเทอร์โบหมุนในรอบสูง ในขณะที่บู๊ชและกันรุนภายใน ยังไม่มีน้ำมันหล่อลื่นเพียงพอ ซึ่งจะส่งผลให้ชิ้นส่วนภายในเสียหาย การกระทำเช่นนี้เป็นประจำจะทำให้เทอร์โบเสียค่อนข้างเร็ว


หลังการใช้งาน ให้ปล่อยเครื่องยนต์เดินเบาประมาณ 2-3 นาทีก่อนดับเครื่อง ควรหลีกเลี่ยงการดับเครื่องยนต์โดยทันทีหลังการใช้งาน
เหตุผล: การที่เครื่องยนต์ได้ถูกใช้งานมาอย่างหนัก เทอร์โบก็ยังหมุนอยู่ในรอบสูง การดับเครื่องยนต์โดยทันทีหมายถึง การปั๊มน้ำมันหล่อลื่นก็จะหยุดทำงานไปด้วย ทำให้ไม่มีน้ำมันเข้าไปเลี้ยงตัวเทอร์โบในขณะที่แกนเทอร์โบยังหมุนอยู่ ซึ่งจะสร้างความสึกหรอให้กับชิ้นส่วนภายในเทอร์โบ นอกจากนี้อุณหภูมิของน้ำมันจะสูงมาก หากดับเครื่องยนต์โดยทันทีจะทำให้เกิดการสลายตัวของน้ำมันเครื่องกลายเป็นคราบคาร์บอน ซึ่งจะทำให้เกิดการอุดตันภายในทางเดินของน้ำมันภายในเทอร์โบ


ควรเติมน้ำมันเข้าไปในเทอร์โบก่อนติดเครื่อง ทุกครั้งที่มีการถ่ายน้ำมันเครื่องและไส้กรอง หากไม่สะดวกก็ควรเติมน้ำมันเข้าไปในไส้กรอง (ชนิดหมุนเปลี่ยน) หรือเติมน้ำมันเข้าไปในกระป๋องไส้กรองน้ำมันเครื่อง (ในกรณีที่เป็นไส้กรองแบบเปลี่ยนไส้) เพื่อป้องกันปัญหาน้ำมันหล่อลื่นเข้าเทอร์โบช้าไป
เหตุผล: หลังการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและไส้กรองทันทีที่สตาร์ทเครื่องยนต์ เทอร์โบจะเริ่มทำงาน ในขณะที่น้ำมันต้องใช้เวลาไหลผ่านไส้กรองใหม่ หากไม่มีการเตรียมน้ำมันเติมไว้แล้วเทอร์โบอาจเกิดความเสียหายได้ หลังการสตาร์ท ปล่อยให้เครื่องยนต์ทำงานในรอบเดินเบาประมาณ 2-3 นาที เพื่อน้ำมันไหลเวียนและเกิดแรงดันตามปกติก่อนใช้เครื่องยนต์ตามปกติ


พยายามหลีกเลี่ยงการใช้งานในรอบเดินเบานานจนเกินไป
เหตุผล:การปล่อยให้เครื่องยนต์เดินเบาเป็นเวลานานเกินไปจะเป็นผลให้แรงดันภายในทั้งโข่งไอเสียและไอดีต่ำเกินไป เป็นผลทำให้น้ำมันอาจซึมหรือรั่วผ่านแหวนไอดีและไอเสีย ซึ่งไม่เป็นอันตรายกับชิ้นส่วนเทอร์โบแต่อาจสร้างความตกใจกับผู้ใช้
วันที่: 15 May 05 - 04:17

 ความคิดเห็นที่: 12 / 15 : 075005
โดย: ป.เป็ด
ปัญหาหลักๆที่มักเกิดขึ้นกับเทอร์โบประกอบด้วย

...เครื่องยนต์ไม่มีกำลัง
...น้ำมันรั่วจากเทอร์โบ
...เกิดอาการควันขาวหรือควันดำมากผิดปกติ
...มีเสียงดังผิดปกติ
.หากท่านประสบปัญหาดังกล่าวข้างต้น ท่านสามารถตรวจสอบด้วยตัวเองก่อนมา ปัญหาเหล่านี้มีต้นเหตุจากเทอร์โบหรือไม่เพราะอาการเหล่านี้อาจมีสาเหตุมาจากเครื่องยนต์ซึ่งท่านสามารถตรวจเช็คได้จากตารางการตรวจสอบก่อนหน้านี้

1.หากเครื่องยนต์ไม่มีกำลัง อาจเกิดขึ้นเนื่องจากเทอร์โบเสียหายหรือระบบน้ำมันเชื้อเพลิงบกพร่อง ท่านสามารถตรวจเช็คด้วยการถอดท่อดูดเข้าเทอร์โบออกแล้วลองหมุนและยกเพลาเทอร์โบจากหัวน๊อตล็อกใบพัดไอดีรวมถึง ตรวจดูว่าใบพัดไอดียังอยู่ในสภาพปกติ หากเทอร์โบหมุนไม่สะดวก โยกหรือรุนมาก แสดงว่าเทอร์โบเสียหายต้องถอดมาตรวจซ่อม หากเทอร์โบยังอยู่ในสภาพปกติให้ตรวจสอบว่าท่อดูดหรือท่ออัดเข้าและออกจากเทอร์โบรั่วหรือคลายหรือไม่ หากทุกอย่างปกติให้ตรวจเช็คระบบเชื้อเพลิงและเครื่องยนต์


2.หากท่านสังเกตุว่ามีน้ำมันรั่วซึมออกจากเทอร์โบ ให้ตรวจเช็คเทอร์โบตามข้อ 1. หากเทอร์โบปกติให้ตรวจเช็คท่อน้ำมันไหลกลับว่ามีการอุดตันทำให้น้ำมันไหลกลับไม่สะดวก ตรวจเช็คกรองหายใจและไส้กรองอากาศว่าอุดตันหรือไม่ รวมทั้งตรวจดูระดับน้ำมันในอ่างน้ำเครื่องไม่ให้สูงเกินไป หากทุกอย่างปกติให้ตรวจเช็คเครื่องยนต์


3.หากเกิดอาการควันขาว เนื่องมันน้ำมันเครื่องรั่ว ซึ่งอาจเกิดมาจากเครื่องยนต์หรือเทอร์โบ หากตรวจเช็คเทอร์โบตามข้อ 1 และข้อ 2 แล้วปกติควันขาวก็น่าจะมีสาเหตุมาจากเครื่องยนต์ หากเกิดควันดำและเครื่องยนต์ไม่มีกำลังก็น่าจะเกิดมาจากเทอร์โบเสียหายหรือระบบเชื้อเพลิง หากตรวจเช็คเทอร์โบตามข้อ 1 แล้วปกติ แสดงว่าปัญหาเกิดจากระบบเชื้อเพลิงอย่างแน่นอน


4,หากเกิดเสียงดังผิดปกติจากเทอร์โบให้ตรวจเช็คเทอร์โบตามข้อ 1 หากปกติก็น่าจะมีสาเหตุจากท่อดูด ท่ออัดอุดตัน หรือ รั่ว เข็มขัดรัดท่อยางคลายตัว ท่อไอเสีย หรือหน้าแปลนโข่งไอเสียเทอร์โบรั่วหรือน๊อตคลายตัว ตามปกติหากเกิดปัญหาเหล่านี้มักจะเกิดปัญหาเครื่องยนต์ไม่มีกำลัง และควันดำติดตามมาด้วย


จากอาการทั้ง 4 ข้อที่กล่าวมา หากปัญหาเกิดจากเทอร์โบควรรีบให้ช่างถอดเทอร์โบเพื่อตรวจเช็คและซ่อมโดยทันทีก่อนเทอร์โบจะเสียหายจนไม่คุ้มค่าซ่อม บริษัทเวิลด์เทคเท่านั้นที่มีอะไหล่เทอร์โบทุกรุ่นและช่างที่ชำนาญงานซ่อมเทอร์โบพร้อมเครื่องมือพิเศษในการซ่อมเทอร์โบอย่างครบครัน พร้อมการรับประกันผลงานการซ่อม
วันที่: 15 May 05 - 04:21

 ความคิดเห็นที่: 13 / 15 : 075053
โดย: a cat
ได้ความรู้เพิ่มขึ้นเยอะเลยคับ

ติดอยู่ตรงท้ายสุดที่โฆษณาของซะงั้น
วันที่: 15 May 05 - 11:23

 ความคิดเห็นที่: 14 / 15 : 075131
โดย: The_P๐๐M
วันที่: 15 May 05 - 14:13

 ความคิดเห็นที่: 15 / 15 : 533595
โดย: เด็กศึกษาจักรกล
ขอบคุณหลายๆๆเด้อๆๆ
วันที่: 03 Jan 10 - 05:29